ไม่ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่เพียงใด คนส่วนหนึ่งก็ยังชอบกิน”ทุเรียน” ทุเรียนคงเป็นผลไม้ที่ช่วยปลอบประโลมใจ เวลาที่เรารู้สึกทุกข์ แค่ได้ลิ้มลองทุเรียนสักนิด ก็รู้สึกมีชีวิตชีวา
เนื้อในของทุเรียนชวนให้หลงใหลเพียงใด คนที่ชอบกินทุเรียนเท่านั้นที่จะเข้าใจความรู้สึกนี้
ว่ากันว่า ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ไม่มีคอเรสเตอรอล ถ้าเป็นพันธุ์ชะนี เนื้อทุเรียน 100 กรัมมีสัดส่วนน้ำตาลซูโครส 1.3 กรัม, ฟรุ๊กโตส 3.4 กรัม และกลูโคส 2.3 กรัม
ถ้าเป็นพันธุ์หมอนทอง เนื้อทุเรียนเท่ากัน มีสัดส่วนน้ำตาลซูโครส 0.9 กรัม, ฟรุ๊กโตส 5.6 กรัม และกลูโคส 1.5 กรัม
เนื้อทุเรียน 100 กรัมจะให้พลังงานคาร์โบไฮเดรต 20-36 เปอร์เซ็นต์ ,ไขมัน 2-3.4 เปอร์เซ็นต์ และโปรตีน 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะพันธุ์ก้านยาวให้พลังงานสูงสุด 200 กิโลแคลอรี่ต่อ 100 กรัมเนื้อ ส่วนพันธุ์ที่ให้พลังงานต่ำสุดคือ พันธุ์กบลำเจียก 63 กิโลแคลอรี่ต่อ 100 กรัมเนื้อ
ที่มาของทุเรียน
ผลไม้ชนิดนี้ถูกนำมาปลูกในเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายมาจากคาบสมุทรมลายู เริ่มแรกปลูกบริเวณสวนฝั่งธนบุรี ริมคลองบางกอกน้อย กระทั่งน้ำท่วมใหญ่หลายครั้ง ในปี 2501 เกิดภาวะฝนแล้ง น้ำเค็มไหลเข้าสวนเรือกนา เกิดความเสียหายแก่สวนทุเรียนทั้งหมด ชาวสวนจึงหันมาปลูกทุเรียนแถวจันทบุรี ระยอง ตราด นครนายก และปราจีนบุรี
ทุเรียนมีเป็นร้อยสายพันธุ์ แต่คนไทยรู้จักทุเรียนไม่กี่สายพันธุ์ อาทิ ชะนี ก้านยาว หมอนทองฯลฯ ทั้งๆ ที่มีทุเรียนสายพันธุ์อร่อยๆ ให้รับประทานอีกมากมาย
ล่าสุดทุเรียนพันธุ์ดั้งเดิมนางพญา พันธุ์กบชายน้ำ อายุกว่า 100 ปี ของสวนจิตรนิยม จังหวัดปราจีนบุรี ราคาลูกละ100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ลูกค้าพอใจจะจ่าย ถ้าสั่งจองปีนี้ รับทุเรียนปีหน้า
ถ้าเคยลิ้มลองทุเรียนพันธุ์ทองแดง ทุเรียนกลิ่นอ่อนๆ เนื้อนุ่ม หวานมันเหมือนดอกไม้ หรือพันธุ์กบลำเจียก พันธุ์ดั้งเดิมที่หากินได้ยาก หวานอ่อนๆ เนื้อละเอียด… แล้วคุณจะลืมหมอนทองไปเลย
“ทุเรียนเหมือนสาวๆ ที่เอาแต่ใจ ร้อนไป หนาวไป น้ำเยอะไป หรือแล้งไป ก็ไม่ได้ เธอ(ทุเรียน) จะค่อนข้างไว ทุกส่วนของทุเรียนจะมีขนเล็กๆ คล้ายร่มซ้อนกันไปซ้อนกันมา
ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ขนเหล่านี้เปรียบเสมือนเรือนกระจกคลุมต้นอีกที คอยทำหน้าที่เปิดปิดควบคุมการระเหยของน้ำ”ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูล และมีหลายเรื่องเกี่ยวกับทุเรียนที่เขาเขียนไว้ในในหนังสือ ทุเรียนของเรา
ทุเรียนไม่ได้มีแค่หมอนทอง
ทุเรียนบางสายพันธุ์ มีรสชาติอร่อยมาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสลิ้มลอง อาทิ พันธุ์ทองแดง กระดุมสีนาก ทองสมพงษ์ กบซ่อนกลิ่น ฯลฯ
“เราเคยเอาเนื้อทุเรียนกลับไปวิเคราะห์ทางกายภาพและโภชนาการ คำนวณแคลอรี่ ความหวาน บางสายพันธุ์ทานแล้วน่าหนักใจสำหรับคนเป็นเบาหวาน แคลอรี่เกินสองร้อย ถ้าคุณกินก้านยาวพลูเล็กๆ ที่มีแคลอรี่สูง คุณสามารถกลับมากินลำเจียกหลายพลูได้
และเมื่อรู้ว่า ทุเรียนแต่ละสายพันธุ์เป็นอย่างไร เราเริ่มทำนายได้ว่าเนื้อจะเป็นยังไง มีโปรตีนและไขมันระดับเท่าไหร่ ตอนนี้นักพฤกษศาสตร์กำลังมองเรี่องวิวัฒนาการของทุเรียนในระยะยาวว่า พวกมันสร้างกลไกในการเจริญเติบโตอย่างไร ทำให้ค้างคาวมาช่วยผสมพันธุ์ จนเกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม
เราอาจลืมไปแล้วว่าทุเรียนมีมากกว่า 300-400 สายพันธุ์ ทุเรียนแต่ละพันธุ์ก็มีความสวยงามและนัยยะที่ต่างกัน แต่ละพันธุ์ก็อยากอยู่รอด แต่เราก็ต้องเข้าใจว่า มีบางอย่างที่ควบคุมไม่ได้ นั่นคือสภาพแวดล้อมที่เอื้อบ้าง ไม่เอื้อบ้าง”
ถ้าจะแยกแยะสายพันธุ์ทุเรียน นักวิชาการคนเดิม ให้ข้อมูลไว้ว่า คนรุ่นใหม่อาจจะชอบทุเรียนที่เนื้อนอกแข็ง เนื้อข้างนิ่ม กลิ่นไม่แรง หวานเนื้อเนียนเป็นครีมเหมือนวานิลลา
“ถ้าคนมีประสบการณ์เยอะๆ การชิมทุเรียนก็เหมือนการดื่มสาเก ไม่ใช่แค่รส แต่มีกลิ่นขึ้นจมูก”
……….
ลองชิมหรือยัง
ทุเรียนนางพญา พันธุ์กบชายน้ำ
สีเหลืองทองอร่าม เนื้อละเอียดเป็นครีม หวานละมุน ไม่เหมือนกลิ่นทุเรียนทั่วไป มีกลิ่นเหมือนดอกไม้ป่า
…………….
พันธุ์กำปั่น
-หวานแสบไส้ เนื้อเละง่าย สุกแล้วงอมเร็ว
…………..
พันธุ์กระเทยเนื้อขาว
-หวานมันเม็ดลีบเล็ก เนื้อแห้ง สุกแล้วไม่เละ
…………….
ภาพจาก : www.duriannon.com
พันธุ์กบพิกุล
-เนื้อเยอะ สุกแล้วสีเหลืองอร่าม (เป็นสายพันธุ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โปรดที่สุด)
………….
พันธุ์อีลวง
ออกลูกเร็วกว่าพันธุ์อื่น เนื้อหยาบ สีเหลืองนวล มีกลิ่นรุนแรงมาก
“””””””””””””
ภาพจาก www.duriannon.com