“ซีพีเอ็น” เปิดแผน 5 ปี เดินเครื่องลงทุนไทย-เวียดนาม-มาเลเซีย หวังสร้างการเติบโตระยะยาว ตั้งเป้าโตไม่น้อยกว่า 10% ต่อเนื่อง ย้ำแผนโครงการ 1.4 หมื่นล้าน 3 บิ๊กโปรเจ็กต์ “อยุธยา-ศรีราชา-จันทบุรี” เปิดตามกำหนดการเดิม พร้อมเร่งบริหารจัดการลดต้นทุน-เพิ่มสภาพคล่อง ชูกลยุทธ์ O2O เชื่อมการช็อปปิ้งแบบไร้รอยต่อ รับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน
นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้บริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ เปิดเผยในงานประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ว่า การระบาดของโควิดระลอก 3 ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลขอความร่วมมือลดการเดินทาง ศูนย์การค้าแม้เปิดบริการ แต่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพียง 30-40% ทำให้บริษัทต้องปรับเปลี่ยนแผนงานเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยระยะสั้น เน้นการดูแลลูกค้าผ่านแผนแม่บทเซ็นทรัล ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า
เน้นการสื่อสารกับลูกค้าและช่องทางการขายของร้านค้าผ่านออนไลน์ เช่น ช่องทางไลน์ Central Life เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการขยายช่องทางขายไปยังลูกค้าในการเพิ่มรายได้ช่วงวิกฤต อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเชื่อว่าโควิดจะคลี่คลาย ถ้าหากมีการฉีดวัคซีนโควิดทั่วถึงและนักท่องเที่ยวสามารถกลับมาได้ในช่วงปลายปี
พลิกสูตรลงทุนอาเซียน
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนระยะยาว 5 ปีข้างหน้า (2564-2568) ตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปีอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ แบบผสม (mixed-use development) แห่งใหม่ รวมถึงการปรับปรุงสินทรัพย์ที่มีอยู่ปัจจุบันเพื่อเพิ่มมูลค่า และพัฒนาโครงการที่พักอาศัย โครงการโรงแรม อาคาร สำนักงาน ทั้งที่ได้วางแผนงานไว้แล้วและแผนในอนาคต พร้อมศึกษาโอกาสการลงทุนสินทรัพย์เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นโครงการมิกซ์ยูส คอนโดฯ อาคารสำนักงาน
รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะเวียดนาม และภูมิภาคอาเซียน เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งธุรกิจของบริษัทในระยะยาวต่อไป โดยคาดการณ์ว่าจะใช้เวลา 3-4 ปีข้างหน้าจึงจะสามารถเปิดให้บริการได้ในต่างประเทศ ภายหลังการระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไป
บริษัทยังเดินหน้าสร้างการเติบโตภายใต้กลยุทธ์ Center of Life โดยธุรกิจที่บริษัทดำเนินการอยู่จะตอบโจทย์การเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ผ่านแผนงานที่ปรับปรุงพัฒนาและบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้ายุค new normal ควบคู่กับการเดินหน้าปรับปรุงศูนย์การค้าเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสทางการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ในทรัพย์สินและธุรกิจที่มีโอกาสทางการเติบโตสูง อาทิ มาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อขยายช่องทางการสร้างรายได้ให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับแผนงานในปีนี้ บริษัทยังคงวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานตามแผนหลักที่วางไว้ ทั้งโครงการใหม่ที่กำลังจะเปิด รวมถึงการปรับปรุงสาขาต่าง ๆ โดยการระบาดของโควิดอาจจะมีผลในบางส่วนที่มีความจำเป็นน้อย หรือไม่จำเป็นที่ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นตามสถานการณ์ แต่ยังคงดำเนินงานบนพื้นฐานปัจจัยที่มาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งบริษัทมีการติดตามผลการดำเนินงานในแต่ละไตรมาสอย่างต่อเนื่อง พร้อมปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
ทั้งนี้ 3 โครงการใหม่ที่ใช้งบฯลงทุนราว 13,900 ล้านบาท ประกอบด้วย เซ็นทรัล อยุธยา, เซ็นทรัล จันทบุรี และเซ็นทรัล ศรีราชา จะดำเนินงานตามแผนงานเดิม โดยจะทยอยเปิดตัวปลายปี 2564 ไปถึงปลายปี 2565 ขณะที่โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โครงการร่วมลงทุนกับบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนามิกซ์ยูส บนพื้นที่ 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 เชื่อมกับบีทีเอสและเอ็มอาร์ที 2 สาย ได้มีการเพิ่มงบฯลงทุนเป็น 46,000 ล้านบาท จากงบประมาณเดิมประมาณ 36,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค และอาคารสำนักงาน โรงแรมดุสิตธานีกรุงเทพ ฯลฯ คาดเปิดให้บริการได้ปี 2566-2567 เป็นต้นไป เริ่มจากโรงแรม ตามด้วยสำนักงาน ศูนย์การค้า และที่พักอาศัย
เพิ่มโฟกัสออนไลน์รับเทรนด์
นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และในอนาคตออนไลน์ก็จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม บางเรื่องช่องทางออนไลน์อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคได้ทุกเรื่อง ลูกค้าบางส่วนยังต้องการประสบการณ์หน้าร้าน การทดลองสินค้า สร้างความสัมพันธ์บริเวณพื้นที่ค้าขาย ดังนั้น การผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบริการ Central Online, Central Life : Chat & Shop หรือช่องทางไลน์ @CentralLife เป็นต้น
ปัจจุบันจะเห็นธุรกิจที่เติบโตมาจากออนไลน์มาเปิดสาขาหน้าร้านมากขึ้น และธุรกิจออฟไลน์ก็ขยายเข้าไปในช่องทางออนไลน์เช่นกัน ขณะเดียวกัน ในส่วนของ physical store หรือ physical mall ก็มีการเพิ่มช่องทางออนไลน์และสร้างความผูกพันกับลูกค้ามากขึ้น เป็นการเชื่อมโยงเข้าหากันระหว่างออนไลน์และออฟไลน์
นายปรีชากล่าวด้วยว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายช่องทางการบริการอย่างหลากหลาย เพื่อช่วยให้ร้านค้าสามารถค้าขายได้ และเอื้อให้ลูกค้าสะดวกใช้งาน อาทิ ช่องทางแชตแอนด์ช็อป, พิคอัพไดรฟ์ทรู เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลขึ้น ผ่าน Central Life และ Central Eats แพลตฟอร์มสำหรับสั่งอาหารที่ได้พัฒนาร่วมกับแกร็บ รวมถึงการให้บริการใหม่ ๆ เช่น การชำระเงินแบบไม่ต้องใช้เงินสดลดการสัมผัส ทำให้ลูกค้ากลับมาราว 80-90% (ไม่รวมสาขาในเมืองท่องเที่ยว อาทิ พัทยา สมุย ภูเก็ต ที่ยังมีผู้ใช้บริการน้อย ไม่มีท่องเที่ยว)
อีกด้านหนึ่งก็ได้มีการปรับลดค่าเช่าให้คู่ค้าประมาณ 15,000 ราย ตามระดับที่เหมาะสม และร่วมจัดกิจการส่งเสริมทางการตลาดช่วยให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ ๆ ซึ่งทำให้ในปีที่ผ่านมาสามารถรักษาอัตราการเช่าให้อยู่ที่ 92%
ส่วนของเป้าหมายการเติบโตในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่มีความไม่แน่นอนสูง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดและการควบคุมโควิด-19 และบริษัทคาดการณ์ว่าในปีนี้ผลประกอบการก็ไม่น่าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ารายได้รวมจะได้รับผลกระทบที่ไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา ที่มีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในช่วงการระบาดรอบแรก นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุนการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายการตลาด และการบริหารธุรกิจ
ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 27,798 ล้านบาท ลดลง 27% มีกำไรสุทธิ 5,621 ล้านบาท จากปีก่อน มีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้จากการให้เช่าและบริการ เนื่องจากมีการช่วยเหลือผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19