ทำความรู้จัก 7UP หรือ เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หุ้นที่ “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” และ ลูกชาย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
วันที่ 30 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รับรายงานการได้มาของหุ้น บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP โดย นายสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มา คิดเป็น 0.2023% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ จำนวนหลักทรัพย์ภายหลังการได้มา คิดเป็น 10.1379% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ซึ่งเป็นการซื้อ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ในราคาสูงสุด หุ้นละ 0.86 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.6 ล้านบาท ทำให้ นายสมยศ มีหุ้น 7UP เพิ่มเป็น 501 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.13%
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายสมยศ ได้ทุ่มซื้อหุ้นของ 7UP มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ราคาหุ้น 7UP ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง คาดว่ามาจากการรายงานการเข้าซื้อหุ้นของ นายสมยศ ซึ่งเป็นการได้มา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 จำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มา คิดเป็น 3.7185% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ก่อนหน้านี้ หุ้น 7UP ยังเผชิญความผันผวน เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ GULF แสดงความสนใจซื้อหุ้น
กระทั่งวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ทาง GULF ออกมาปฏิเสธข่าว ระบุว่า นายสารัชถ์ ไม่มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนใน 7UP หรือบริษัทอื่นในกลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค รวมทั้งตัวบริษัท GULF เองก็ไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าไปลงทุนในบริษัทดังกล่าวเช่นกัน
ตรวจสอบงบการเงินบริษัทพบว่า ปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 3,233.80 ล้านบาท หนี้สินรวม 1,098.27 ล้านบาท รายได้รวม 1,454.03 ล้านบาท กำไรสุทธิ 117.44 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น (บาท) 0.04 บาท
“พุ่มพันธุ์ม่วง 2 คน ใน 7UP”
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 7UP ณ วันที่ 6 มกราคม 2564 พบว่า 10 อันดับแรก นอกจากชื่อของ นายสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แล้ว ยังมีบุคคลนามสกุลเดียวกันอีก 1 คน ได้แก่ นายรชต พุ่มพันธุ์ม่วง หรือ “อ้าย” ลูกชายคนเล็กของนายสมยศ ซึ่งเดินตามรอยอาชีพตำรวจเหมือนกับบิดา
โดยข้อมูล ณ เดือนมกราคม นายรชต เป็นผู้ถือหุ้น 7UP รายใหญ่อันดับ 2 มีหุ้น 5.38% รองจาก ADVANCE CAPITAL PARTNERS PTE.LTD. ซึ่งถืออยู่ 14.01% ขณะที่นายสมยศ ถืออยู่ 2.66% แต่หลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอันดับ เนื่องจากนายสมยศ ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10% แซงหน้านายรชต
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังระบุว่า ADVANCE CAPITAL PARTNERS PTE., LTD. ได้ขายหุ้น 7UP ออกมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา เหลือถือหุ้นเพียง 183.76 ล้านหุ้น หรือ 3.7185% โดยมี “บริษัท พาหนะ อินเวสเตอร์ จำกัด” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ที่ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด 713.26 ล้านหุ้นหรือ 15.79%
- GULF ชี้แจงตลาดหุ้น ปัดข่าวลือ “สารัถช์” ซื้อหุ้น “7UP”
“ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสนี้รวบรวมข้อมูลและประวัติของ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP ดังนี้
7UP ทำธุรกิจอะไร
บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภค เดิมชื่อ บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) (จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561)
จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2538 ด้วยทุนจดทะเบียนจำนวน 30 ล้านบาท ต่อมาได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 และได้รับอนุมัติให้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2545
บริษัทได้มีการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจ และเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 4,285,517,722.00 บาท และมีทุนที่ออกและชำระแล้วจำนวน 3,029,598,102.00 บาท
ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทประกอบธุรกิจหลัก 5 ธุรกิจ ได้แก่
1.ธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคมและ Internet of Things (IOT)
บริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ระบบวิทยุสื่อสารคมนาคมเฉพาะกิจที่ให้บริการเพื่อการสื่อสารที่ใช้เฉพาะกลุ่ม เพื่อให้สามารถติดต่อกันได้ในกลุ่มคลื่นความถี่เดียวกัน โดยบริษัทได้รับความไว้วางใจในการเลือกใช้งานและติดตั้งจากหน่วยงานราชการและกลุ่มธุรกิจเอกชนทั่วประเทศ
บริษัท อินฟอร์เมติกส์ พลัส จำกัด มีลักษณะการดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกับบริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด โดยประกอบธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและให้บริการด้าน Information and Communication Technology โดยเริ่มตั้งแต่เป็นผู้ให้คำปรึกษา วิเคราะห์ ออกแบบ การวางระบบเครือข่ายสื่อสารและระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทุกประเภท และเป็นผู้ติดตั้งระบบสำหรับงานบางประเภทโดยเฉพาะ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้าและความเหมาะสมในด้านการใช้งาน
2.ธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม
บริษัท ยูนิเวอร์แซล เวสต์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท เอเชียรีไซเคิล โฮลดิ้ง จํากัด) เป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องครอบคลุมการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมและได้รับการอนุญาตดำเนินธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความเชี่ยวชาญทางด้านการบำบัด กำจัด กากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตราย (HAZARDOUS) และไม่เป็นอันตราย (NON-HAZARDOUS) ได้แก่การกำจัด (ฝังกลบ) และการเผาทำลายด้วยอุณหภูมิสูง
ปัจจุบันบริษัท มีเงินลงทุนในบริษัทย่อย 2 แห่ง ซึ่งลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทย่อย มีดังนี้
- บริษัท เอเซีย รีไซเคิลเทคโนโลยี จำกัด ทำหน้าที่ติดต่อหาลูกค้าและทำการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะนำไปกำจัดที่ศูนย์บำบัดกากอุตสาหกรรมของบริษัท จังหวัดฉะเชิงเทรา
- บริษัท เอเซีย เวสต์ แมนเน็จเม้นท์ จำกัด ทำหน้าที่ติดต่อหาลูกค้าและทำการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะนำไปกำจัดที่ศูนย์บำบัดกากอุตสาหกรรมของบริษัท จังหวัดชลบุรี
3.ธุรกิจสถานีจำหน่ายแก๊สและน้ำมัน
บริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด ประกอบธุรกิจการให้บริการแก๊ส LPG สำหรับยานยนต์แบบค้าปลีกภายในสถานีบริการของตนเอง หรือ “COCO” (Company Own – Company Operate) ปัจจุบันมีสถานีบริการทั้งหมดจำนวน 30 สาขา ในอยุธยา กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งอยู่บนถนนเส้นหลัก อยู่ในแหล่งชุมชน และมีสิทธิการเช่าที่ดินระยะยาวเฉลี่ย 10-15 ปี ซึ่งสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและตอบสนองความต้องการในการใช้แก๊สของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
ธุรกิจตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายแก๊ส LPG
บริษัทได้เข้าลงทุนในธุรกิจตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายแก๊ส LPG ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้และกำไรที่ดีผ่านทางบริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด ซึ่งสามารถแบ่งประเภทธุรกิจในกลุ่มได้ ดังนี้
- ธุรกิจสถานีบริการแก๊ส LPG ทั้งหมด 30 แห่งในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด
- ธุรกิจขนส่งแก๊ส LPG ระหว่างผู้ค้ามาตรา 7 และสถานีให้บริการแก๊ส LPG ซึ่งดำเนินการโดยผ่านบริษัท อาร์.เอ. โลจิสติคส์ จำกัด (“RA Logistics”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ สตาร์ แก๊ส
- ธุรกิจสถานีบริการแก๊ส NGV ซึ่งดำเนินการโดยผ่านบริษัท ธวัชภิญโญ จำกัด (“TWP”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ สตาร์ แก๊ส
- ธุรกิจสถานีน้ำมันแฟรนไชส์ร่วมกับ PTG ผ่านบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม พลัส จำกัด โดยมองเป้าให้บริการทั้งหมด 10 สาขา ในปี 2563
บริษัท อาร์.เอ. โลจิสติคส์ จำกัด ประกอบธุรกิจขนส่งแก๊ส LPG จากคลังของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ ผู้ค้ามาตรา 7 มายังสถานีให้บริการแก๊ส LPG ในเครือสตาร์ แก๊ส สถานีบริการอื่นๆ และโรงงานอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการและการบริหารเส้นทางการเดินรถ มีระบบควบคุมดูแลและติดตาม GPS Tracking เพื่อให้การขนส่งมีประสิทธิภาพ
บริษัท ธวัชภิญโญ จำกัด ประกอบธุรกิจแก๊สธรรมชาติ NGV ภายใต้สัญญาบริหารแบบที่ 3 กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (“ปตท.”) โดย ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนในสถานีและรับผิดชอบในต้นทุนสินค้าทั้งหมด ในส่วนของบริษัท ธวัชภิญโญ จำกัด จะได้รับรายได้จาก ปตท. ในรูปแบบรายได้ค่าบริหารสถานี และรายได้การใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยปัจจุบันมี 2 สถานี ได้แก่ พระราม 2 ขาเข้า และพระราม 2 ขาออก
บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม พลัส จำกัด ประกอบธุรกิจปั๊มน้ำมัน ปัจจุบันเปิดทำการจำนวน 6 แห่ง เพื่อช่วยเสริมฐานธุรกิจจากปัจจุบันที่มีธุรกิจสถานีบริการ LPG/NGV เข้าสู่การให้บริการสถานีบริการน้ำมันซึ่งมีค่าการตลาดที่ดีต่อยอดธุรกิจ โดยสถานีน้ำมันที่เปิดดำเนินการแล้ว 6 แห่ง ได้แก่
- สถานีเจ้าปลุก อำเภอมหาราช จังหวัดอยุธยา
- สถานีเขาจีนแล อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
- สถานีขาณุ ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
- สถานีสนามบินตาก ตำบลริมน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดตาก
- สถานีตาก-ลำปาง กิโลเมตรที่ 8 ตำบลไม้งาม อำเถอเมือง จังหวัดตาก
- สถานีคลองขลุง ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
4.ธุรกิจพลังงานทดแทน
บริษัท อีโค เอ็นเนอร์ยี กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลชีวภาพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ ก๊าซชีวภาพ พลังงานขยะ พลังงานจากการเผาไหม้วัสดุการเกษตร และพลังงานทดแทนอื่น ๆ ทุกประเภท รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องครบวงจร
บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ รีโวลูชั่น จํากัด เป็นบริษัทผู้นำด้านนวัตกรรมการประหยัดพลังงานสำหรับระบบหอหล่อเย็น (Cooling tower) ในภาคอุตสาหกรรม โดยมีประสบการณ์ในด้านงานเครื่องกลทั้งด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง ซึ่งบางส่วนของประสบการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นการออกแบบและการสร้างกังหันน้ำ (Hydro Turbine) และ การติดตั้งระบบท่อต่าง ๆ ในโรงงาน
บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ รีโวลูชั่น จํากัด ได้คิดค้นนวัตกรรมการประหยัดพลังงานของหอหล่อเย็น (Cooling tower) โดยใช้รูปแบบของพลังงานน้ำเข้ามาช่วย เรียกว่าหอหล่อเย็นแบบ Hydro Turbine ความแตกต่างจากหอหล่อเย็นแบบทั่วไปคือ หอหล่อเย็นประเภททั่วไปจะใช้มอเตอร์ในการหมุนพัดลม ในขณะที่หอหล่อเย็นประเภทนวัตกรรมนี้จะใช้พลังงานของน้ำที่เหลือในระบบในการขับเคลื่อนใบพัดของหอหล่อเย็นผ่านกังหันน้ำ “Hydro Turbine”
5.ธุรกิจสาธารณูปโภค
บริษัท แซม วอเตอร์ ซัพพลาย จำกัด (“SAM”) ดำเนินธุรกิจออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และบริหารจัดการงานวิศวกรรมทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน SAM มีสัญญาจำหน่ายน้ำดีที่ผ่านการบำบัดน้ำด้วยระบบอัลตราฟิลเตรชั่น และผ่านการกำจัดเชื้อด้วยระบบโอโซนในฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่ปริมาณ 64,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน กับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
- เปิดตู้เซฟ “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” อึ้ง ! พบไม่แจ้งมีหนี้สิน-ยืมเงิน “เสี่ยกำพล” 300 ล้านบาท