ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองอยุธยาอีกแห่งซึ่งผสมผสานศิลปะไทยและขอมได้อย่างน่าทึ่ง เดิมเป็นตำหนักที่ประทับของกษัตริย์ในระหว่างเสด็จไปลพบุรีและไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแต่สร้างแบบก่ออิฐถือปูนในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเมื่อ พ.ศ. 2147 โดยโปรดเกล้าฯ ให้ช่างถ่ายแบบมาจากปราสาทศิลา ‘เมืองพระนครหลวง‘ หรือศรียโสธรปุระหรือนครวัดในกรุงกัมพูชา เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ได้กรุงกัมพูชากลับมาเป็นประเทศราชอีกหากการก่อสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาใน พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นในบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งยังสร้างพระพุทธบาทสี่รอยประดิษฐานในมณฑปบนชั้นสูงสุดเป็นพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอยบุ๋มลึกลงไปในเนื้อหินรอยใหญ่ที่สุดกว้างประมาณ 2.50 เมตร ยาว 5.50 เมตร มีจารึกที่หน้าบันว่าปฏิสังขรณ์เมื่อ ร.ศ. 122 ( พ.ศ. 2446 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5) เดินชมฝีมือช่างไทยโบราณที่อุตสาหะก่อสร้างปราสาทก่อด้วยอิฐทั้งหลัง ตั้งอยู่บนเนินเขามนุษย์สร้างโดยการถมดินให้สูงที่น่าอัศจรรย์คือมีปรางค์ถึง 30 องค์ รูปทรงคล้ายปรางค์ขอมย่อมุมไม้ยี่สิบพร้อมระเบียงคดในศิลปะขอม ที่เชื่อมต่อปรางค์แต่ละองค์ซึ่งช่างทำลูกมะหวด ลักษณะเหมือนซี่ลูกกรงตัน และตำหนักนครหลวงหรือศาลพระจันทร์ลอย เป็นอาคารจัตุรมุขซึ่งบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีพระปลัด (ปลื้ม) หรือพระครูวิหาร-กิจจานุการนำแผ่นหินแกรนิตทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร หนา 6 นิ้ว ที่เรียกว่าพระจันทร์ลอยมาจากวัดเทพจันทร์ลอย อำเภอนครหลวงที่อยู่ใกล้เคียงมาประดิษฐานไว้ เป็นโบราณสถานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและบรรยากาศเงียบสงบ ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้ เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.