อยุธยาเปิดรับความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม จึงมีชาวไทย มอญ จนถึงชาวคริสต์และชาวมุสลิมอยู่ร่วมกันในราชธานีแห่งนี้อย่างสงบร่มเย็น ดังพบหลักฐานเป็นมัสยิดนูรุ้ลยะมาล ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ว่ามีกลุ่มทายาทเชื้อสายของฮูเซ็น ซึ่งเป็นชาวเปอร์เซียที่นับถือศาสนาอิสลามพากันสร้างมัสยิดที่บ้านสระบัวแห่งทุ่งลุมพลีนี้มาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ในช่วงสงครามไทย-พม่าเมื่อ พ.ศ. 2310 ทุ่งลุมพลีกลายสภาพเป็นสนามรบ เพราะที่ดอน จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่กองทัพพม่าจะเคลื่อนพลมาตั้งฐานทัพล้อมพระนครและเข้าห้ำหั่นกับฝ่ายไทยจนต้องเสียกรุงศรีอยุธยาไปในที่สุด ดังปรากฎหลักฐานเป็นเศษขี้เหล็กที่ใช้ในการหลอมปืนใหญ่ ซึ่งหลังจากกรุงแตก ทุ่งลุ่มพลีก็รกร้างเสื่อมโทรมลงไป ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ชาวมุสลิมจากปัตตานีอพยพมาอยู่ในพื้นที่ของตำบลลุมพลี หรือเดิมชื่อบ้านสระบัวและได้ร่วมกันสร้างสุเหร่าเป็นเรือนไม้ประจำชุมชนแห่งแรกขึ้น จากนั้นจึงบูรณะใหม่ให้เป็นมัสยิดที่มั่นคงแข็งแรงกว่าเดิมโดยมีนายช่างชาวจีนกำกับการก่อสร้าง ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อิหม่ามนูรได้เข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน ณ พระราชวังบางปะอิน ซึ่งทรงพระราชทานโคมไฟสีเขียวและพระราชทานชื่อให้ด้วยว่า “มัสยิดนูรุ้ลยะมาล” มัสยิดอันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านลุมพลีนี้เป็นอาคารทรงปั้นหยา ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมอียิปต์ หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ พื้นปูหินอ่อนจากอิตาลี ภายในมีมิมบัร (Mimbar) หรือแท่นบรรยายธรรมไม้สักที่แกะสลักข้อความในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานตามแบบศิลปกรรมตะวันออกกลาง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2439โดยนายช่าง มุสลิมนามว่า ฮัจยีอิสหาก บินยะฮ์ยาสให้อยู่คู่มัสยิดนูรุ้ลยะมาล ซึ่งยืนหยัดเป็นมรดกตกทอดทางจิตใจที่สำคัญสูงสุดสำหรับชาวไทยมุสลิมแห่งบ้านลุมพลี ควรติดต่อโต๊ะอิหม่ามไว้ล่วงหน้าเพื่อขออนุญาตเข้าชม ระหว่างเวลา 09.00-18.00 น. โทร. 0 3523 1676