วังหลัง ตั้งอยู่ริมกำแพงพระนครศรีอยุธยาด้านทิศตะวันตก ในเขตโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังในปัจจุบัน ตรงข้ามกับวัดกษัตราธิราช วังหลังแห่งนี้ มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารเป็นครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อคราวมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราช ในบริเวณนี้เดิมเป็นพระราชอุทยานนอกพระราชวัง เป็นที่สำหรับให้พระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ประพาสเป็นครั้งคราว เรียกว่า “สวนหลวง” ในครั้งนั้นคงปลูกแต่เพียงพระตำหนักที่ประทับเท่านั้นเพิ่งจะมาสร้างเป็นวังขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ( พ.ศ. 2112-2133) ในคราวเดียวกันกับที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษม และโปรดให้เป็นที่ประทับของเด็จพระเอกาทศรถพระราชโอรสพระองค์เล็ก วังหน้าคือพระราชวังจันทรเกษมตั้งอยู่ด้านหน้าของพระราชวังหลวง และวังหลังหรือที่เรียกกันว่า “วังสวนหลวง” อยู่ทางด้านหลัง เป็นคู่กันมาแต่เดิม จึงเรียกกันว่า “วังหน้าและวังหลัง” ต่อมาวังหลังเป็นแต่เพียงที่ประทับของเจ้านายในพระราชวงศ์เท่านั้น ไม่เหมือนพระราชวังจันทรเกษมที่มีพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปประทับเป็นครั้งคราว เพราะฉะนั้นจึงไม่ปรากฏสิ่งสำคัญอันใดที่สร้างไว้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเลย นอกจากวัดสวนหลวงสบสวรรค์และพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย สิ่งที่น่าสนใจในบริเวณนี้คือพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สองสองฐานซุ้มสีขาวสว่างและตัวเรือนธาตุสีทองอร่าม มองไปตรงข้ามจะเป็นทัศนียภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ข้ามสะพานออกจากเกาะเมืองไปก็จะเจอวัดกษัตราธิราชอยู่ฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ หากใครขับรถมาเที่ยวในตัวเมืองอยุธยาแล้วก็ลองขับออกมารอบตัวเมืองบ้าง นอกจากจะได้ชมโบราณสถาน พระเจดีย์ของวีรสตรีไทยแล้ว ยังได้ชมทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ช่วงเวลาที่แนะนำ ควรจะมาเที่ยวที่นี่ในยามเย็นเพราะเหมาะอย่างยิ่งที่จะมานั่งชมพระอาทิตย์อัสดงที่บริเวณวังหลังแห่งนี้