อ่านตำนานสมเด็จพระนเรศวรในรูปแบบที่ไม่เหมือนกับที่ใด ๆ ที่วัดทอง อันเป็นชื่อดั้งเดิมของวัดที่พระบรมมหาชนกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใกล้กับบริเวณนิวาสถานเดิม ครั้นพระราชโอรสปราบดาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุร สิงหนาท พระอนุชาร่วมบูรณะวัดทองเมื่อ พ.ศ. 2328 และพระราชนามว่า วัดสุวรรณดารารามตามพระนามของพระบรมชนกนาถว่าทองดี และดาวเรือง พระนามของพระบรมราชชนนี หากจะกล่าวว่าวัดทองคือวัดแห่งราชวงศ์จักรีก็ไม่ผิดนัก ความวิจิตรงดงามนั้นพบเห็นได้ทุกหนแห่ง โดยเฉพาะที่พระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ หลังคาประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม้สักแกะสลักลายกนกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปิดทองประดับกระจก คันทวยที่ประดับรับเชิงชายคาแกะสลักเป็นลายนกพันรอบทวย พระอุโบสถภายนอกเป็นรูปทรงเรือสำเภาตามรูปแบบศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เป็นที่ประดิษฐานพระประธานซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้จำลองขยายส่วนจากพระแก้วมรกต ด้านหน้าพระอุโบสถมีแท่นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นแท่นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ประดิษฐานต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำหน่อโพธิ์มาจากประเทศอินเดีย แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถและพระวิหาร นอกจากจะมีเรื่องราวพุทธประวัติ ไตรภูมิ ทศชาติชาดกแล้ว ยังมีภาพเขียนสีน้ำมันฝีมือของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตร เป็นภาพพระราชพงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งแต่พระองค์ทรงพระเยาว์ไล่ไปจนถึงบั้นปลายชีวิต ภาพแรกอยู่ตรงมุมวิหารด้านซ้ายมือหลังพระประธาน แสดงภาพพระสยามเทวาธิราชทูลอัญเชิญพระอิศวรให้มาจุติเป็นพระนเรศวร แต่มีผู้แย้งว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นักประวัติศาสตร์หลายคนจึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพพระนารายณ์ทูลอัญเชิญพระอิศวรให้มาจุติเป็นพระนเรศวรมากกว่า จากนั้นไล่ลำดับเรื่องราวเป็นพระองค์ดำหรือพระนเรศวรเมื่อยังทรงพระเยาว์รำกระบี่กระบองกับมังสามเกียด (พระมหาอุปราชา) หน้าพระพักตร์บุเรงนอง ภาพการชนไก่ระหว่างพระองค์ดำกับมังสามเกียด ที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีว่ามังสามเกียดกล่าวชมไก่ชนของพระองค์ดำว่า “ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงนะ”และพระองค์ดำทูลตอบกลับไปว่า “ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่ตีพนันชนเอาเดิมพันเลย ถึงชนเอาบ้านเอาเมืองกันเมื่อไรก็ได้” ที่นี่คุณยังจะได้ศึกษาภาพที่น่าสนใจ เช่น ภาพทรงเรือตามพระยาจีนจันตุทรงตีเมืองคัง ภาพทรงม้าใช้ทวนแทงลักไวทำมูตกม้า ภาพหลั่งน้ำประกาศอิสรภาพ ภาพทรงพระสุบินปราบจระเข้ ภาพการทำศึกสงครามตามสถานที่ต่าง ๆ ไปจนถึงภาพสุดท้าย ภาพขบวนแห่พระศพของพระนเรศวรหลังการสิ้นพระชนม์เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาฯ ท่ามกลางไพร่ฟ้าที่ตกอยู่ในความเศร้าเหลือพรรณา แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือภาพใหญ่ที่สุดวาดไว้เต็มผนังด้านหน้าเหนือประตูทางเข้าวิหาร คือภาพการทำยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาซึ่งวาดรายละเอียดได้ชัดเจน แม้แต่ช้างทรงของสองกษัตริย์ไทย-พม่าก็มิได้มีเครื่องทรงช้างหรือเครื่องผูกของช้างจอมพล ถูกต้องตามความเป็นจริงที่ไม่มีการเครื่องทรงในยามรบ เพราะความสวยงามจะกลายเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ได้ แต่เรื่องที่ชวนสังเกตคือภาพพระราชพงศาวดารนี้ใช้เทคนิคการวาดภาพสีน้ำมันแบบตะวันตกที่แสดงกล้ามเนื้อและสรีระเหมือนคนจริง ๆ เชื่อได้ว่าอาจเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นต้นแบบของภาพในอนุสรณ์ดอนเจดีย์ที่สุพรรณบุรี แผนที่เดินทางไปวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/473/วัดสุวรรณดาราราม.pdf