ที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยานั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการค้าโลกยุคโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งก็ว่าได้ เพราะเป็นทางเชื่อมผ่านระหว่างโลกตะวันออก (จีน) และตะวันตก (กรีก โรมัน) จัดว่าเป็นเส้นทางสายไหมทางบก จึงมีชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าและต่อมาได้ตั้งรกรากอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาสร้างหมู่บ้านญี่ปุ่นอยู่กันมากถึง 1,500 คน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออกหรือทางตอนใต้ของเกาะเมือง ด้านเหนือของหมู่บ้านญี่ปุ่นจะมีคลองเล็ก ๆ คั่นเป็นชุมชนอังกฤษและชุมชนฮอลันดา ชาวญี่ปุ่นที่มาอยู่กรุงศรีอยุธยาแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ พ่อค้า โรนินหรือนักรบญี่ปุ่นที่เข้ามาเป็นทหารอาสาญี่ปุ่นในอยุธยา และชาวญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเลือกจะออกจากประเทศเพื่อแสวงหาดินแดนที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ตอกย้ำหลักฐานทางประวัติศาสตร์การตั้งรกรากของชาวญี่ปุ่น เมื่อมีการขุดค้นบริเวณวัดสิงห์ปากน้ำ ใน พ.ศ. 2476 พบเศียรพระพุทธรูป 44 องค์ พระพุทธรูปองค์เล็ก 21 องค์ โซ่เหล็ก มีด โม่หิน กระทะ เหรียญอันนัม ชิ้นส่วนดาบ เสื้อเกราะและพระโพธิสัตว์ ซึ่งฮิกาชิอนนะ คันจุ นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นบันทึกไว้ว่า พระโพธิสัตว์ทรงแบบเตาซาซุมะและหินกลมที่ขุดพบนี้นำมาจากญี่ปุ่นส่วนการสำรวจบริเวณพื้นที่ตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่นก็พบมีเสาไม้ซึ่งมีอักษรภาษาญี่ปุ่นจารึกอยู่ มีรูปสักการะเจ้าแม่กวนอิมของชาวญี่ปุ่น และกระสุนปืนใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ( พ.ศ. 2148-2153) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกหนังสือให้กับชาวญี่ปุ่นที่จะทำสำเภาการค้าเรียกว่าใบเบิกร่องประทับตราแดง เป็นตัวกระตุ้นให้มีพ่อค้าชาวญี่ปุ่นออกเรือและเดินทางเข้าสู่อยุธยามากขึ้น สินค้าที่ชาวญี่ปุ่นต้องการ ได้แก่ ไม้ฝาง หนังกวาง และของป่า อยุธยาเองก็นำเข้าสินค้าจำพวกทองแดง ดาบญี่ปุ่น ไหม และเครื่องเคลือบต่าง ๆ โดยชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด ได้แก่ นางามาสะ ยามาดะ เป็นหัวหน้าชาวญี่ปุ่นและเจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเข้ารับราชการได้รับความดีความชอบกระทั่งได้เป็นถึงออกญาเสนาภิมุข และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยจนถึงบั้นปลายชีวิต อีกรายคือมารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา ลูกครึ่งญี่ปุ่น-โปรตุเกส ซึ่งสมรสกับคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ ออกญาวิชาเยนทร์ เสนาบดีกรมท่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เธอเข้ารับราชการจนได้ตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศและนำของหวานโปรตุเกสมาเผยแพร่ในเมืองไทย เป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง อย่างทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นเอง นอกจากนิทรรศการวิถีชีวิต บุคคลสำคัญและการค้าไทย-ญี่ปุ่นในยุคนั้นแล้ว ยังมีสวนญี่ปุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่น่าไปเที่ยวชม ออกแบบโดยนักออกแบบสวนชาวญี่ปุ่นชื่อ ฮิโรฮิสะ นาคาจิมา ที่มีผลงานในระดับนานาชาติ มีศาลาญี่ปุ่นให้นั่งผ่อนคลายชมวิวริมน้ำ ได้บรรยากาศญี่ปุ่นโดยเดินทางใกล้ ๆ เพียงแค่อยุธยาเท่านั้น เปิดเวลา 08.00-17.00 น. ค่าเข้าชมชาวไทย ราคา 20 บาท ชาวต่างชาติ ราคา 50 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 3524 4340 หรือสมาคมไทย-ญี่ปุ่น โทร. 0 3524 5336, 0 2251 5852, www.thai-japanasso.or.th แผนที่เดินทางไปหมู่บ้านญี่ปุ่น http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/483/หมู่บ้านญี่ปุ่น.pdf