วันศุกร์ ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
กอนช.เตือน6จว.ภาคอีสาน26-31ส.ค.
น้ำหลาก-จมฉับพลัน
มหาสารคาม-กาฬสินธุ์-อุบลราชธานีอ่วม
กรมชลฯสั่งจับตา5จว.ภาคกลาง-กทม.
รับมือน้ำเพิ่มสูงเขื่อนป่าสักฯเร่งระบาย
อยุธยาท่วม7อำเภอรวม9.5พันครัวเรือน
อุตุฯเตือนฝนตกหนักทั่วไทย ด้าน กอนช.เตือน 6 จังหวัดอีสาน รับมือน้ำหลาก-ท่วมฉับพลัน 26-31 สิงหาคมนี้ กรมชลฯ ชี้ 5 จังหวัด-กทม.รับน้ำเพิ่มสูง
จากเขื่อนป่าสักฯ “จิสด้า” เผยลุ่มน้ำชี-มูล เอ่อท่วมพื้นที่แล้วกว่า 1.3 แสนไร่กระทบพื้นที่เกษตร 7 หมื่นไร่ พระนครศรีอยุธยาอ่วม! น้ำท่วม 7 อำเภอเดือดร้อนกว่า 9.5 พันครัวเรือน
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน ‘หมาอ๊อน’บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก
อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง ‘หมาอ๊อน’บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนอยู่ห่างประมาณ 130 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมาเก๊า คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้วันเดียวกันนี้ และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นและหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ พายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ โดยประกาศกอนช.ฉบับที่33/2565 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2565 แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26-31 สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 15-24 สิงหาคม 2565
ทั้งนี้ เกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 28 จังหวัด 74 อำเภอ 193 ตำบล 627 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 14,657 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์
จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง จ.สุพรรณบุรี จ.ขอนแก่น จ.อุบลราชธานี จ.ชัยภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จ.มหาสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ปราจีนบุรี
ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนที่ตกลงมา ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำท่าไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระหว่างวันที่ 24-30 สิงหาคมนี้ รวมประมาณ 133.26 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) ทำให้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำประมาณ 355 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำเหนือ
จึงมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตราวันละ 34.56 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็น 43.20 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป
เมื่อปริมาณน้ำไหลลงไปรวมกับน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสักแล้ว ก็จะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 600 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ท้ายเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.00–1.50 เมตร
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการในแม่น้ำป่าสัก รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมชลประทานจะบูรณาการร่วมกับจังหวัดลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม.แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรับทราบสถานการณ์ล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป
ส่วนสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ใช้ดาวเทียมSentinel -1 ติดตามสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบพื้นที่น้ำท่วมขังแล้ว 136,292ไร่ โดยเฉพาะสองฝั่งของลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูลบางส่วนของ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.มหาสารคาม จ.บุรีรัมย์และ จ.ร้อยเอ็ด ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวได้รับกระทบแล้วเช่นกันกว่า 70,000 ไร่ โดยทางจิสด้า ได้ส่งต่อข้อมูลดังกล่าวให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ นำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจแล้ว
สำหรับสถานการณ์ในแม่น้ำชี ภายหลังฝนตกหนักได้ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยน้ำเหนือจาก จ.ชัยภูมิ และน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ได้เอ่อท่วมสะพานทางเข้าวัดป่าอาศิราวาส หรือวัดป่าเกาะเกิ้ง อ.เมือง จ.มหาสารคามที่เป็นวัดเกาะกลางลำน้ำแหล่งท่องเที่ยวอันซีนซึ่งทหารได้เร่งสร้างสะพานไม้ชั่วคราวเพื่อการสัญจรเข้าออกวัดดังกล่าว
นายวิวัฒน์ อินไทยวงศ์ รอง ผวจ.มหาสารคาม ปฏิบัติหน้าที่แทน ผวจ.มหาสารคาม ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด แจ้งเตือนไปยังนายอำเภอทั้ง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.กันทรวิชัย อ.โกสุมพิสัย และ อ.เชียงยืน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีบ้านเรือนติดริมสองฝั่งแม่น้ำชี ให้เตรียมรับมือสถานการณ์อุทกภัย จากระดับน้ำในลำน้ำชีที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันเดียวกัน นายวีระชัย นาคมาศ ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เขื่อนเจ้าพระยา ปล่อยน้ำที่ 1,464 ลบ.ม./วินาที ส่วนเขื่อนพระรามหก ปล่อยน้ำลงแม่น้ำป่าสัก 458 ลบ.ม./วินาที ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย 7 อำเภอ 73 ตำบล 323 หมู่บ้าน 4 ชุมชน 9,556 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 2,793ไร่ ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว
อีกด้านหนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีเตือนภัย พื้นที่หมู่ 1 บ้านดง ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก ได้แจ้งเตือนปริมาณน้ำและระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากเกิดน้ำป่าไหลหลาก ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดที่ผ่านมา โดยนายชุมพลภัทร์ เลาหะพานิช นายก อบต.สาริกา ได้ออกสำรวจพื้นที่ พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่อปพร.เข้าให้การช่วยเหลือชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ภายหลังน้ำป่าไหลหลากมาตามแหล่งน้ำสำคัญต่างๆ จนน้ำท่วมบ้านเรือน ถนนหลายสาย ขณะที่ปริมาณน้ำที่สะพานวังตะไคร้เริ่มลดระดับความสูงและความแรงลงส่วนที่อุทยานน้ำตกนางรองปริมาณน้ำและระดับความแรงยังอยู่ในระดับวิกฤต ทางเจ้าหน้าที่ได้ปักธงแดง และสั่งห้ามลงเล่นหรือเข้าใกล้กระแสน้ำ
นายชุมพลภัทร์ กล่าวว่า น้ำป่าไหลท่วมพื้นที่ตั้งแต่เช้ามืด โดยสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกในแหล่งต้นน้ำในป่าเขาใหญ่ มีปริมาณมาก ทำให้ธุรกิจรีสอร์ทที่ติดริมน้ำถูกน้ำท่วม มีนักท่องเที่ยวติดอยู่ในรีสอร์ท ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับ อบต.สาริกา จึงเร่งเข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยว และแจ้งเตือนผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยว รับทราบ
สำหรับสถานการณ์ฝนที่ตกในพื้นที่ยังไม่มีแนวโน้มจะหยุดตกในเร็วๆนี้ และจากพยากรณ์อากาศพบว่ามีกลุ่มเมฆฝนอยู่ ส่วนแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น คลองมะเดื่อ น้ำตกวังตะไคร้ ได้ประกาศห้ามลงเล่นอย่างเด็ดขาด ส่วนชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมขังนั้นอยากให้ตัดกระแสไฟฟ้าในบ้านเรือนก่อน เพื่อความปลอดภัย โดยรอให้น้ำลดระดับลงก่อนค่อยใช้งาน โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง
ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.เดชฤทธิ์ ศรีคชาสว.(สอบสวน) สภ.บางคล้า เข้าตรวจสอบเหตุรถกระบะยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ สีบรอนซ์เงิน ถูกเสาไฟฟ้าหักโค่นล้มทับจนได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่บริเวณถนนสาย 304 ช่วงสี่แยกหนองปลาตะเพียน หมู่ 5 ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา โดยภายหลังฝนตกหนักและมีฟ้าผ่า ทำให้เสาไฟฟ้าแรงสูงหักโค่นลงมากว่า 37ต้น เป็นระยะทางยาวกว่า 1กิโลเมตร เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเหตุดังกล่าว พบรถกระบะคันเกิดเหตุ ได้รับความเสียหายที่ประตูด้านซ้ายและกระจกมองข้างส่วนรถอีกคันเป็นรถหัวลากยี่ห้อฮีโน่ สีขาวและลูกพ่วง ถูกสายไฟแรงสูงทับแก็ปหลังคาและกระจกมองข้างด้านซ้ายได้รับความเสียหายเช่นกัน อย่างไรก็ดี ทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าฯ ได้ตัดกระแสไฟฟ้าและเข้าดำเนินการซ่อมแซมแล้ว เพื่อให้กลับมาจ่ายกระแสไฟฟ้าให้พี่น้องประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว ส่วนกู้ภัยจุดบางคล้า ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต.ได้เร่งตัดต้นไม้ที่กีดขวางการจราจรบริเวณถนนสาย 304 เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรไปมาได้ตามปกติต่อไป