ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านโยบายพืชเศรษฐกิจที่เป็นกระแสในห้วงเวลานี้ยังคงยกให้กัญชาและกัญชง สัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
เปิดเวทีสัมมนาทางออนไลน์ในหัวข้อ “กัญชากับการเป็นพืชทางเลือกใหม่ของเกษตรกร : โอกาสและความท้าทาย” โดยมีหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชนเข้าร่วมรับฟังจำนวนมากกว่า 400 ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
พืชเศรษฐกิจท้าทายนโยบายรัฐ
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์เกษตรแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า หลายประเทศรวมถึงไทยได้เริ่มปรับเปลี่ยนกฎหมายและปลดล็อกให้กัญชาเป็นพืชถูกกฎหมาย
เนื่องจากมีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้หลากหลาย ทั้งการแพทย์ ธุรกิจเครื่องดื่ม อาหาร เครื่องสำอาง กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต
โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดโลกนั้นจะเติบโตต่อเนื่อง และจะมีมูลค่า 109.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า แบ่งเป็นตลาดกัญชาทางการแพทย์สัดส่วน 60% ของมูลค่ากัญชาทั้งหมด และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อสันทนาการ
ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มปลดล็อกและอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำให้ตลาดยังมีมูลค่าน้อย ส่วนใหญ่เป็นส่วนผสมอยู่ในตำรับยาไทย หากไทยผลักดันอย่างต่อเนื่องคาดว่าตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทยจะอยู่ที่ 3,600-7,200 ล้านบาท ในปี 2564 จึงเห็นความสำคัญคาดว่าจะเป็นทางเลือกสร้างรายได้ให้เกษตรกรในอนาคต
“สมาคมมองทุกมิติทั้งเชิงเศรษฐศาสตร์และสังคมว่าอนาคตกัญชาเชิงพาณิชย์จะเป็นความท้าทายนโยบายภาครัฐ
ซึ่งต้องสร้างการรับรู้และจะผลักดันอย่างไรให้ยั่งยืน โดยเฉพาะหากภาครัฐมีแนวทางกำหนดให้เป็นการเปิดเสรี ต้องรอบคอบและรวบรวมข้อมูลอีกมากจากทุกภาคส่วน”
อย.กำกับทุกขั้นตอน
ภญ.ศิริพร ฉวานนท์ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การใช้ประโยชน์กัญชาในประเทศไทยปัจจุบันเป็นการวิจัยพัฒนาและใช้ในทางการแพทย์
ยังห้ามผลิตจำหน่ายนำเข้าส่งออกนอกจากได้รับอนุญาตครอบครอง ทั้งนี้ เป็นไปตามอนุสัญญายาเสพติดระหว่างประเทศยังควบคุมเป็นยาเสพติด แต่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้
อย่างไรก็ตาม หลัก ๆ ของการปลดล็อกจากยาเสพติด คือ 1.ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน รากไม่เป็นยาเสพติด 2.เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด เมล็ดกัญชง 3.สารสกัด CBD
และในส่วนสาร THC ต้องไม่เกิน 2% ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติดขอย้ำว่า “ช่อดอกกัญชาและกัญชง รวมทั้งเมล็ดกัญชายังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด”
ส่วนที่สำคัญคือ กรณีการปลูก สกัด และผลิต ทั้งหมดยังต้องขออนุญาตจาก อย.ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ระบุผู้มีคุณสมบัติขออนุญาต คือ หน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกรแพทย์แผนไทยเป็นต้น
โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐตามเงื่อนไขและขั้นตอนปลูก สกัด ผลิตต้องขออนุญาตด้วย ส่วนวัตถุดิบที่เหลือ เช่น เปลือก ลำต้น เส้นใย ฯลฯ ที่ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ โดยผู้ที่จะนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้จะต้องนำมาจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูก สกัด ผลิตเท่านั้น
และเมื่อมีการซื้อขายกัญชา-กัญชงในส่วนที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดจากผู้ผลิตเรียบร้อยแล้ว ผู้รับซื้อจะได้รับเอกสารจากผู้ขายเพื่อเป็นการยืนยันว่ามีการซื้อวัตถุดิบจากแหล่งผลิตใด และสามารถตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารได้ว่าเป็นเอกสารที่ออกจากระบบของ อย.จริง
อภัยภูเบศรย้ำมีประโยชน์
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดมืด
เมื่อมีการปรับให้กัญชาถูกกฎหมายส่งผลให้มีอัตราการเติบโตในระยะหลังโดยเฉพาะกัญชาทางการแพทย์และตลาดสันทนาการ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบมิติสังคมของไทยไม่น่าจะไปถึงขั้นสันทนาการ เนื่องจากขึ้นอยู่กับบริบทและความพร้อมของประชาชน เพราะบางประเทศดี บางประเทศเสียหาย สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมีองค์ความรู้
โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เดินตามกระแส เช่น เรื่องของส่วนผสมอาหาร แต่การรับรู้ภาคประชาชนยังไม่ชัดเจน ตรงนี้เป็นข้อท้าทายอย่างมาก การใช้ประโยชน์จากกัญชาของไทยจะใช้ได้ทุกส่วนแตกต่างจากต่างประเทศ ทั้งนี้ จากผลงานวิจัยและการรักษาโรคแน่ชัดเเล้วว่ากัญชามีประโยชน์อย่างมากหากใช้อย่างเหมาะสม
จี้รัฐให้ความชัดเจนกฎหมาย
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปางกล่าวว่า กัญชา-กัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในอนาคต
เรียกได้ว่าหลายร้านค้านำไอเดียต่าง ๆ ไปประกอบร้านในช่วงโควิดฟื้นตัวได้ดีมาก แต่ปัญหาตอนนี้กฎหมายยังล้าหลังกว่าประชาชนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ภาครัฐควรต้องให้ข้อมูลชัดเจนในเรื่องนี้มากขึ้น
ซึ่งจะเห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาหากพูดถึงกัญชามักถูกปฏิเสธ แต่ต่อไปนี้กัญชาควรได้รับโอกาส ภาครัฐควรส่งเสริมให้ประชาชนมีองค์ความรู้ให้มากกว่านี้
สำหรับการปลูกของวิสาหกิจเป็นแบบเกษตรผสมผสาน ต้องมีการดูแลอย่างดี ทั้งการปลูกนอกและในโรงเรือนเพื่อเปรียบเทียบเรื่องราคาต้นทุนซึ่งต่างกัน 1 : 10 ปลูกในโรงเรือนต้นทุนสูงมาก
เราปลูกส่งให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ฐานะผู้ได้รับอนุญาตผลิตและครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือในประเภท 5 ตามกฎหมาย
ด้าน วิศารท์ พจน์ประสาท ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์อภิบาลด้วยพืชสมุนไพรแห่งริเวอร์แควจังหวัดกาญจนบุรีกล่าวว่า ศูนย์อภิบาลได้รับใบอนุญาตการปลูกกัญชาอย่างถูกต้อง
โดยสามารถปลูกได้ 50 ต้นต่อปี และปลูก 2 ครั้ง ทั้งเพื่อส่งให้กรมการแพทย์แผนไทย และต่อยอดผลิตภัณฑ์ อนาคตตั้งเป้าพร้อมพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองกัญชาเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
เป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งพักผ่อนของชาวกาญจนบุรีและชาวต่างชาติ โดยมีจุดเด่นริมแม่น้ำแควนับเป็นแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดเสริมสร้างอุตสาหกรรมไทยและรายได้ให้ชุมชนโดยรอบอีกด้วย
ผลวิจัยชี้ไทยยังขาด
‘แผนผลิตต้นน้ำ-ปลายน้ำ’
ผศ.ดร.รวิสสาข์ สุชาโต นักวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจของการเพาะปลูกกัญชาเพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจไทย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า
อัตราการเติบโตของตลาดกัญชาโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูล Markets and Markets (2018) ระบุว่า ปี 2566 คาดการณ์ว่าตลาดกัญชาภาพรวมจะอยู่ที่ 39,352.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีมูลค่า 10,305 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยแบ่งเป็นกัญชาการแพทย์สัดส่วน 19.9% มูลค่า 12,589 ล้านเหรียญสหรัฐ และกัญชาเพื่อสันทนาการสัดส่วน 38.7% มูลค่า 26,763.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ภายใต้กฎหมายที่อนุญาตให้ปลูกกัญชาทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยทางการแพทย์เท่านั้น โดยมีการปลูกทั้งระบบเปิดและปิด ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า อุปสรรคสำคัญเกิดจากไทยยังขาดการวางแผนร่วมกันตลอดโซ่อุปทาน
อาทิ ต้นนำ เมล็ดพันธุ์ พันธุ์ไทยได้จากการนิรโทษกรรมไม่มีการคัดแยกพันธุ์ ไม่มีการพัฒนาสายพันธุ์ไทย พันธุ์ต่างประเทศใช้เวลานานในการนำเข้า และด้านการปลูกองค์ความรู้มีจำกัด
ขั้นตอนการขออนุญาตเยอะ ใช้ข้อมูลมาก ไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปลูก ขณะที่กลางน้ำวัตถุดิบไม่เพียงพอคุณภาพของวัตถุดิบไม่คงที่ การตรวจสอบคุณภาพใช้เวลานานและต้นทุนสูง
ส่วนปลายน้ำ แพทย์ต้องผ่านการอบรม แพทย์บางส่วนยังไม่มั่นใจในประสิทธิผล มีขั้นตอนทำงานที่มากขึ้น ผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และยังมีผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงกัญชาเพื่อการแพทย์อย่างถูกต้อง