รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร
ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชุมชนเก่าของสุโขทัยที่อยู่นครชุม
ตัวเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง ทว่าแต่เดิมนั้นชุมชนของกำแพงเพชรเริ่มที่ฝั่งตะวันตก มีชื่อปรากฏในจารึกสมัยสุโขทัยว่านครชุมหรือนครพระชุม ทุกวันนี้คือบริเวณปากคลองสวนหมาก ต.นครชุม ยังมีซากโบราณสถานแบบสุโขทัยตกค้างอยู่ดังเช่นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดเจดีย์กลางทุ่ง มณฑปวัดหนองพิกุล ส่วนพระบรมธาตุเดิมซึ่งน่าจะเป็นเจดีย์แบบสุโขทัยนั้นถูกซ่อมแปลงเป็นเจดีย์พม่าโดยพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ 100 กว่าปีมานี้เอง
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมศิลปากร) กล่าวว่า นครชุมมีภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐานตามเมืองแบบสุโขทัยคืออยู่บนที่ราบลาดเอียง มีลำน้ำไหลจากภูเขาสูง (คลองสวนหมาก) ลงสู่แม่น้ำปิง การทดน้ำใช้ระบบเหมืองฝายเข้าสู่คูเมืองก่อนผันลงแม่น้ำใหญ่อีกที จึงเป็นลักษณะที่ยืนยันได้ว่านครชุมทางฝั่งตะวันตกเป็นเมืองของสุโขทัยในลุ่มน้ำปิง ศิลาจารึกนครชุม พ.ศ. 1900/1357 A.D. กล่าวว่า พระมหาธรรมราชาลิไททรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จากศรีลังกาที่เมืองแห่งนี้
นครชุมคงร่วงโรยลงหลังจากราว พ.ศ.1950/1407 A.D. เนื่องจากมีการสร้างเมืองใหม่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำขึ้นประจันหน้าก็คือเมืองกำแพงเพชรนี้เอง
กำเนิดเมืองกำแพงเพชร โดยราชวงศ์สุพรรณภูมิเชื้อสายสุโขทัย
ศิลาจารึกอายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 20/14 Cent. A.D. มีชื่อเมืองกำแพงเพชรขึ้นแล้วทำเลที่ตั้งเมืองเป็นที่ราบยกสูง สร้างคูกำแพงเมืองเป็นแนวสี่เหลี่ยมคางหมูยาวล้อกับแนวโค้งแม่น้ำปิง โดยผันน้ำจากแม่น้ำปิงแบบใช้ “ทำนบรอ” (เขื่อนปากคู) กั้นน้ำ สร้างป้อมลอยกลางคูเมืองคล้ายเมืองสุพรรณบุรีเป็นความรู้จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างไม่ใช่วิธีแบบเมืองสุโขทัยและชื่อกษัตริย์ผู้ครองเมืองที่ปรากฏในจารึกกฎหมายลักษณะโจรว่า “ศรีมหาจักรพรรดิราช” เป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยา สรุปว่าเมืองกำแพงเพชรสร้างขึ้นโดยอำนาจจากกรุงศรีอยุธยาภายใต้ราชวงศ์สุพรรณภูมินั่นเอง
การสร้างเมืองซ้อนในบริเวณเดียวกันนี้สะท้อนว่าเป็นการครอบงำของฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเหนือพื้นที่ส่วนหนึ่งของแคว้นสุโขทัย โดยมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเป็นสำคัญด้วย เพราะมีหลักฐานว่าเจ้านายของสุพรรณภูมิได้สมรสกับราชวงศ์พระร่วงสุโขทัยทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เชื่อว่าทำให้ทางสุพรรณภูมิ
มีฐานอำนาจเกิดขึ้นในหัวเมืองเหนือจนสามารถสร้างเมืองขึ้นในดินแดนแคว้นสุโขทัยได้
กำแพงป้อมก่อด้วยศิลาแลงอย่างมั่นคงเป็นที่มาของชื่อเมืองนี้ตั้งแต่สมัยแรกสร้าง และคงถูกปรับปรุงครั้งใหญ่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเพื่อรับศึกล้านนาในราว พ.ศ.2000-2018 (1457-1475 A.D.) ด้วยมีวิทยาการปืนไฟจึงต้องก่อกำแพงให้มีเชิงเทินและใบเสมาบังทางปืนด้วย คุณลักษณะของปราการเมืองเช่นนี้จึงเหมาะในการตั้งรับอย่างยิ่ง ศาสนสถานสำคัญใจกลางเมืองคือกลุ่มโบราณสถานวัดพระแก้ว-วัดมหาธาตุ มีการก่อสร้างเจดีย์วิหารจำนวนมากต่อเนื่องจนแผนผังยืดเป็นแนวยาว แสดงความสลับซับซ้อนของระยะเวลาหลายสมัย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20-21
เนินศิลาแลงขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเยื้องไปทางตะวันตกเล็กน้อย มีชายเนินลาดลงมาจนถึงแนวคลองท่อทองแดงใกล้กำแพงเมืองทิศเหนือ จุดสูงสุดของเนินนี้อยู่บริเวณวัดช้างรอบมีโบราณสถานที่เป็นวัดวาอารามใหญ่น้อยจำนวนนับสิบแห่งกระจายตัวอยู่
เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีโบราณสถานอยู่นอกกำแพงเมืองออกมาและมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนดูเสมือนเป็นวัดที่อยู่ในป่า จึงถูกเรียกว่า “เขตอรัญญิก” โบราณสถานเหล่านี้ก่อสร้างด้วยศิลาแลงซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างมหาศาลในพื้นที่ ใช้เทคนิคเฉพาะของช่างเมืองกำแพงเพชรเช่นการตัดศิลาแลงเป็นเสาเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่วิหารวัดพระนอน โดยการขุดตัดศิลาแลงนั้นได้กลายเป็นบ่อน้ำหรือคูน้ำของวัดที่ใช้เก็บกักน้ำไว้บนเนินในฤดูแล้ง นับเป็นภูมิปัญญาที่น่าชมอย่างยิ่ง จากขนาดใหญ่โตโอ่อ่าของสถาปัตยกรรมและจำนวนศาสนสถานที่ตั้งอยู่ประชิดกันเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม ดังเช่นวัดอาวาสใหญ่ วัดช้างรอบ วัดพระสี่อิริยาบถ สะท้อนว่าต้องเคยเป็นบริเวณที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมาก่อน ผิดกับลักษณะความสมถะของวัดป่าแบบสุโขทัย ปัจจุบันกรมศิลปากรอนุรักษ์โบราณสถานเหล่านี้ไว้ในภูมิทัศน์ร่มรื่นคืออุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองผสมผสานศิลปกรรม สุโขทัย ล้านนา อยุธยาและพม่า
เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่บนรอยต่อของภูมิประเทศจากที่ราบลุ่มทางใต้จะขึ้นไปยังหุบเขาสูงทางตอนเหนือและมีช่องตัดข้ามเทือกเขาไปยังอ่าวเมาะตะมะทางตะวันตก กำแพงเพชรจึงเป็นแหล่งรวมของศิลปวัฒนธรรม โดยมีพื้นฐานสำคัญคือศิลปะสุโขทัยที่พบมาก่อน ศิลปะอยุธยาที่นำมาโดยกลุ่มสุพรรณภูมิและศิลปะล้านนา-พม่า จากเส้นทางติดต่อค้าขาย
เจ้าเมืองกำแพงเพชรในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ชื่อว่า พระยาแสนสอยดาว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นตำแหน่งขุนนางแบบล้านนาสอดคล้องกับที่ได้พบการผสมผสานศิลปกรรมของเมืองกำแพงเพชรที่รวมเอาศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยาและศิลปะล้านนาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนดังเช่นเจดีย์ทรงระฆัง มีฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นลักษณะของสุพรรณภูมิ และมีส่วนองค์เจดีย์รองรับด้วยฐานบัวถลาแบบสุโขทัย บัลลังก์ย่อมุมแบบศิลปะล้านนา กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เจดีย์บางองค์ก่อคูหาสี่ทิศคล้ายกับเจติยวิหารในศิลปะพม่าอีกด้วย
การสร้างเจดีย์ช้างล้อมเช่นที่วัดช้างรอบสะท้อนถึงรสนิยมศิลปะสุโขทัยหรือการเข้ามาใหม่ของพุทธศาสนาสายลังกาสำนักวัดป่าแดง งานประดับประดาลวดลายปูนปั้นและแกะสลักมีกลิ่นอายของศิลปะจีนหรือล้านนาดังเช่นลายกรอบวงโค้งสามเหลี่ยม ดอกโบตั๋น ใบไม้ธรรมชาติ พบอยู่ทั่วไปในศิลปกรรมช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นระยะที่กำแพงเพชรเจริญขึ้นสูงสุด มีเทวรูปพระอิศวรสำริดขนาดใหญ่เป็นประธานของเทวาลัยกลางเมือง จารึกที่ฐานระบุชื่อเจ้าเมืองว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช ได้หล่อเทวรูปใน พ.ศ.2053/1510 A.D. ซ่อมแซมพระมหาธาตุวัดวาอารามและขุดซ่อมคลองชลประทานเดิมที่เรียกว่าท่อปู่พระยาร่วงไปยังเมืองบางพานสำหรับการทำนาปรัง
เมืองยุทธศาสตร์-เส้นทางเดินทัพ-สงคราม-ทิ้งร้าง
เมืองกำแพงเพชรผ่านยุครุ่งเรืองลงมาจนถึงภาวะสงครามระหว่างหงสาวดีกับอยุธยา จึงกลายเป็นเมืองที่ต้องรับศึกเหนือใต้จากการเป็นเส้นทางผ่านจากชายแดนพม่าเข้าสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา กองทัพของทั้งสองฝ่ายผลัดกันยึดเมืองและใช้สำหรับเป็นที่มั่นสำหรับการศึกระยะยาวดังปรากฏว่ากองทัพหงสาวดีครั้งสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พ.ศ.2112/1569 A.D. ใช้เป็นที่ตั้งทำนาสะสมเสบียง
ระยะดังกล่าวนี้อาจมีการสร้างป้อมทุ่งเศรษฐีขึ้นทางฝั่งนครชุมเพื่อใช้ตั้งรับศึกด้วย โดยมีลักษณะเป็นป้อมค่ายมีรูปคล้ายดาวตามอย่างป้อมในยุโรป (Bastion Fort) เป็นวิทยาการที่กรุงศรีอยุธยารับจากชาวตะวันตกนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 หลังการเข้ามาของชาวโปรตุเกส
และแล้วหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก สมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งราชวงศ์สุโขทัยซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นแทนราชวงศ์สุพรรณภูมิได้กวาดเอาครัวเรือนจากหัวเมืองเหนือของแคว้นสุโขทัยเดิมลงไปยังกรุงศรีอยุธยาอาจมีผลกระทบสำคัญกับเมืองกำแพงเพชรที่ต้องทิ้งร้างไป ชุมชนนับจากนั้นลงมาถึงปัจจุบันจึงลงมาเกาะกลุ่มกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงยาวลงมาทางทิศใต้โดยมีการสร้างวัดวาอารามใหม่ๆ ขึ้น เช่น วัดชีนางเกา วัดเสด็จ วัดคูยาง วัดบาง เป็นต้น
กำแพงเพชรสมัยรัตนโกสินทร์ มีชุมชนสองฝั่งแม่น้ำปิง ตัวเมืองและการปกครองอยู่ทางฝั่งตะวันออก ขณะที่ฝั่งตะวันตกเป็นหย่อมย่านบ้านใหญ่ชื่อบ้านปากคลองสวนหมาก เป็นฉากในนวนิยายยิ่งใหญ่ของนักเขียนอมตะ “มาลัย ชูพินิจ” หลายเรื่อง เช่น ทุ่งมหาราช ชั่วฟ้าดินสลาย ฯลฯ
กำแพงเพชรวันนี้ เมืองใหญ่ที่ไม่รู้จัก
แม้จะได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage) โดยองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยตั้งแต่ พ.ศ.2534/1991 ทว่าการเกิดขึ้น-เจริญรุ่งเรืองก่อนร่วงโรยลงของเมืองกำแพงเพชรนั้นมีบริบทเป็นของตนเองชัดเจน จึงควรมีคำอธิบายเพื่อสร้างชุดความรู้ทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ศิลปะของเมืองกำแพงเพชรโดยเฉพาะ
อีกทั้งในแง่การท่องเที่ยวซึ่งการคมนาคมในปัจจุบันมีบทบาทกำหนดพฤติกรรมชัดเจนด้วยถนนสายหลักที่ตัดผ่านอย่างฉาบฉวย ขาดการให้ส่วนร่วมกับการเดินทางสาธารณะและไม่มีจุดหมายตาหรือจุดพักที่สะดวกสบาย ทำให้ไม่มีใคร “แวะ” เที่ยวชมและศึกษาเมืองกำแพงเพชรในฐานะเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมากเท่าที่ควร
หรือจะต้องรอให้พระยาแสนสอยดาวกับพระยาศรีธรรมาโศกราชจุติลงมาครองเมืองกำแพงเพชรกันใหม่กระนั้นหรือ