ชฎา
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
น้องลิซ่า พาชฎาไปดังทั่วโลก เราสวมชฎากันตั้งแต่เมื่อไหร่คะ รับมาจากไหน
ม่าเหมี่ยว
ตอบ ม่าเหมี่ยว
คำตอบนำมาจากบทความ “ชฎา, มงกุฎ โขนละคร ได้จาก ‘ลอมพอก’ ของเปอร์เซีย (อิหร่าน)” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ เนื้อหาตอนหนึ่งเล่าไว้ว่า “…ชฎา, มงกุฎ หมายถึงเครื่องสวมศีรษะ มียอดแหลม และมีหลายแบบ นักปราชญ์ราชบัณฑิตสยามอธิบายสอดคล้องกันว่าชฎามีต้นแบบจากลอมพอกที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของเปอร์เซีย (อิหร่าน)
ลอมพอก เครื่องสวมศีรษะรูปยาว ยอดแหลม หรืออาจมนๆ ไม่แหลมนักก็ได้ ล้วนได้แบบจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา แล้วใช้เป็นเครื่องทรงพระเจ้าแผ่นดินกับเครื่องแบบขุนนางสยามยุคอยุธยา ต่อมามีพัฒนาการเป็นชฎาและมงกุฎ ใช้แต่งตัวโขนละครด้วย
ลอมพอก มาจาก ลอม กับ พอก, ลอม หมายถึง กองเรียงกันขึ้นไปให้สูงเป็นจอม เช่น ลอมฟาง วางท่อนไม้ให้ปลายด้านบนรวบกันเป็นจอม เช่น ลอมฟืน, พอก หมายถึง เพิ่ม พูน โพก เช่นโพกหัว โพกผ้าขะม้า, ฯลฯ
ลอมพอกของพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางทั้งหลาย มีคําพรรณนาอธิบายของ ลา ลูแบร์ ที่เห็นด้วยตนเอง เมื่อ พ.ศ. 2230 ไว้ในจดหมายเหตุฯ ยุคสมเด็จพระนารายณ์ว่า ‘พระลอมพอกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ประดับขอบ หรือเสวียนเกล้า ด้วยพระมหามงกุฎเพชรรัตน์ ลอมพอกของพวกขุนนางนั้นประดับเสวียนทองคํา, เงิน, หรือกาไหล่ทองมากน้อยตามยศ ลางคนก็ไม่มีเสวียนเลย พวกขุนนางจะใช้ลอมพอกนี้ชั่วเวลา เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ หรือเพลาประชุมคณะขุนศาลตุลาการ หรือในพิธีลางอย่างเท่านั้น เขาใช้แถบผูกโยงยึดไว้ใต้คาง และเมื่อแสดงการเคารพก็มิได้ถอดออก’
ทั้งนี้ นอกจากลอมพอกแล้ว เครื่องแต่งตัวโขนละครยังใช้ผ้าของเปอร์เซียด้วย”
ยังมีคำอธิบายเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ว่า รูปทรงของพระชฎาที่มีพัฒนาการเริ่มแรกมาจากลอมพอก มีตัวอย่างจากภาพพระชฎาของพระเวสสันดรในจิตรกรรมสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาเลขที่ 6 ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ดูใกล้เคียงกับที่บาทหลวงตาร์ชาร์ตกล่าวถึงพระชฎาของสมเด็จพระนารายณ์อยู่ไม่น้อยว่า
“ทรงสวมศิราภรณ์เปล่งปลั่งด้วยรัตนชาติ เหมือนหมวกทรงสูง มียอดแหลมดั่งพีระมิด ล้อมรอบด้วยวงแหวน (เกี้ยว) 3 วง เรียงซ้อนห่างกันเพียงเล็กน้อย” และพระตำราเครื่องทรงเครื่องต้นอันสืบทอดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง “พระชฎาริมทอง สอดตามสี” เป็นหนึ่งในเครื่องต้นเต็มยศเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ทรงนมัสการพระพุทธบาท
กาลต่อมาพระชฏาที่เคยทำจากผ้าและเครื่องประดับทองที่สุดก็เปลี่ยนเป็นทองคำล้วนทั้งองค์ ดังตัวอย่างจากภาพพระชฎา ในจิตรกรรมฝาผนังในฉากจิตรกรรมเรื่อง พรหมนารทชาดก บนผนังอุโบสถวัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร วาดเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 23 และมีพัฒนาการสืบมาจนถึงการสร้างพระชฎาในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งทำจากทองคำลงยาประดับอัญมณี