ผมพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชายแดนใต้ไม่สงบ ทำให้มีการสู้รบที่ยืดเยื้อมากว่าสิบเจ็ดปี แล้วหวนมาคิดคำนึงถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมากว่าสิบปีเช่นกัน คิดแล้วพอเห็นลาง ๆ ว่า เราถูกจองจำในตำนาน ในภาพจำที่เป็นความเชื่อที่ปลูกฝังกันมานาน ยากแก่การขยับเขยื้อน ในแง่เหตุผลทุกฝ่ายคงอธิบายได้หมด แต่เรื่องความเชื่ออธิบายด้วยเหตุผลอย่างไรก็ไม่ได้ยิน ต่างฝ่ายต่างเชื่อในตำนานของตน
บอกกันว่าความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นปัญหาเชิงอัตลักษณ์ แต่มีหลายคนเชื่อว่าถ้าพัฒนาให้เศรษฐกิจดี ปัญหาจะเบาบางลงไปเอง ผมเห็นความสำคัญของการพัฒนาเชิงวัตถุ แต่คงตอบโจทย์ไม่ได้ทั้งหมด มีหลายคนเชื่อว่า ถ้าให้เกียรติแก่ผู้นำศาสนา และชวนให้ผู้นำศาสนาทั้งสองฝ่ายร่วมกันนำพาศาสนิกสู่การปรองดอง ก็จะช่วยให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บางคนเชื่อว่าสิ่งที่ยังขาดและควรทำ คือการเรียนรู้ภาษาของกันและกันโดยบรรจุไว้ในหลักสูตรสามัญ นอกจากนี้ในหลักสูตรสามัญ ควรมีวิชาประวัติศาสตร์และตำนาน ทั้งจากมุมมองของชาตินิยมไทยและชาตินิยมมลายู
ในมุมมองมลายู หนังสือ “ปัตตานีในอดีต” (โดยอ.บางนรา) เล่าขานว่า “ปตานี” หมายถึงอาณาบริเวณของสามจังหวัดและบางส่วนของสงขลา บางสมัย ปตานียังคลุมถึงรัฐกลันตันและตรังกานูซึ่งปัจจุบันอยู่ในมาเลเซีย แต่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 15 อาณาบริเวณนี้รู้จักกันในนาม “ลังกาสุกะ” บันทึกประวัติศาสตร์ของจีนที่เขียนในสมัยราชวงศ์เหลียง (ค.ศ. 502-566) ระบุว่า ลังกาสุกะตั้งขึ้นในปลายคริศตวรรษที่ 1 บันทึกของจีนตอนต้นคริสตศตวรรษที่ 7 ระบุว่า เมืองนี้สร้างมากว่า 400 ปีแล้ว กษัตริย์พระนามว่า ภัคคะทัต ขึ้นครองราชย์ในยุคเทียนเชียน (ค.ศ. 515) และพระองค์ได้มีสัมพันธไมตรีกับจีน ได้มีการกล่าวถึงลังกาสุกะจนถึงตอนต้นของคริสตศตวรรษที่ 15 ต่อจากนั้นไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย
ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง (ครองราชย์ ค.ศ. 1279-1300) อาณาเขตอิทธิพลของสุโขทัยทางทิศใต้ปรากฏตามศิลาจารึกว่า “เบื้องหววนอนคนทีพระบาง แพรกสุพรณณภูมิ ราชบุรี เพชบุรี ศรีธรมมราช ฝ่งงทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงสันนิษฐานว่าทะเลสมุทรดังกล่าวหมายถึงช่องแคบมะลากา หมายความว่าอาณาเขตสุโขทัยแผ่ลงไปตลอดแหลมมลายู
อย่างไรก็ดี George Coedes (ยอร์ช เซเดส์ นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส) เขียนว่า สุโขทัยจะได้เมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูทั้งหมดมายึดครองหรือไม่ยังเป็นที่สงสัยอยู่ เพราะดูระยะทางแล้ว ไม่แน่ใจว่าสุโขทัยจะมีอำนาจไปควบคุมเมืองเหล่านั้นได้ ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ว่า “ทะเลสมุทร” ดังกล่าวหมายถึงทะเลสาบน้ำเค็มสงขลา ต่อมาในสมัยอยุธยา มีการอ้างการแผ่อาณาเขตอิทธิพลไปถึงเมืองมะลากาอีก เช่น การอ้างอาณาเขตในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะขณะที่ทรงตั้งกรุงศรีอยุธยา ในปี ค.ศ. 1350 นั้น เจ้าชายองค์หนึ่งของปาเล็มบัง พระนามว่า ปรเมศวร ยังไม่ได้หนีภัยพร้อมไพร่พลมาตั้งเมืองมะลากาในปี ค.ศ. 1398 ส่วนในปี ค.ศ. 1441 และ 1455 ที่พงศาวดารสยามระบุว่าอยุธยาได้ยกทัพเรือไปตีเมืองมะลากานั้น เชื่อว่าตีไม่สำเร็จเพราะในขณะนั้น เมืองมะลากามีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง
ในเรื่องการตั้งเมืองปัตตานีนั้น ขออ้างตำนานเมืองไทรบุรีว่า มะโรงมหาวงศ์ทรงให้โอรสและธิดาไปสร้างเมืองใหม่ พระธิดาพระองค์หนึ่งได้รับพระราชทานกริชเล่มหนึ่งชื่อ เลลา มิซานี พระธิดายกไพร่พลไปทางทิศตะวันออก จนถึงแม่น้ำแห่งหนึ่งไม่ไกลทะเลมากนัก ก็ตั้งเมืองและให้ชื่อว่า “ปตานี” ตามนามกริชมิซานีที่พระบิดาประทานให้
ต่อมามีบันทึกของเมืองกลันตันที่ระบุว่า มีชาวปัตตานีคนหนึ่งไปเผยแพร่อิสลามในกลันตันราวปี ค.ศ. 1150 แสดงว่าอิสลามเข้าเมืองปัตตานีก่อนการสร้างเมืองมะลาการาว 200 ปี แต่กว่ากษัตริย์ปัตตานีจะเข้ารับอิสลามก็ในราวปี ค.ศ. 1457 คือหลังจากที่อิสลามเริ่มแพร่หลายในหมู่ประชาชนประมาณ 300 ปี
ก่อนการเข้ารับอิสลามของกษัตริย์ปัตตานี เชื่อว่าเมืองปัตตานีเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว ดังจะเห็นได้จากการมาเปิดสถานีการค้าที่ปัตตานีในปี ค.ศ. 1516 ต่อมาเมื่อนักเผชิญภัยชาวโปรตุเกสชื่อ เฟร์เนา เมนเดส ปินโต มาถึงปัตตานี เขาเขียนว่า มีชาวโปรตุเกสเกือบ 300 คนทำมาหากินอยู่ที่ปัตตานี การเจริญของปัตตานีมาถึงยุครุ่งเรืองภายใต้การปกครองของราชินี (หรือรานี) 4 พระองค์ ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1584 – 1688 รวมประมาณหนึ่งศตวรรษ ราชินีสามพระองค์แรกล้วนเป็นธิดาของสุลตาน มันศูรฺ ชาห์ องค์ที่สี่คือราชินีกูนิง เป็นพระราชนัดดา
สุลตานองค์แรกที่เปลี่ยนมารับอิสลามไม่ทรงเคร่งครัดในศาสนกิจมากนัก พระโอรสสองพระองค์ได้สืบสันตติวงศ์ในลำดับต่อมา พระองค์แรกคือสุลตาน มุฎ็อฟฟัรฺ ชาห์ ต่อมาพระอนุชาได้ขึ้นเป็นสุลตาน พระนามว่า มันศูรฺ ชาห์ สุลตานมุฎ็อฟฟัรฺเสด็จไปอยุธยา “ด้วยการที่สองประเทศอยู่ด้วยกัน” แต่ดูเหมือนว่าพระเจ้าเมืองอยุธยามองว่าสุลตานมีฐานะต่ำกว่าพระองค์ ตำนานฮิกายัตปาตานีเขียนว่า ก่อนจะเสด็จกลับสุลตานได้เข้าเฝ้ากษัตริย์สยามและเอาพระบาทกษัตริย์สยามมาวางไว้บนศีรษะของตน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1563 เมื่อทราบว่าพม่าโจมตีอยุธยา สุลตานก็ยกทัพไปอยุธยา ทำทีว่าจะไปช่วย แต่กลับบุกเข้ายึดพระราชวังเป็นเวลาหลายวัน จนพระมหาจักรพรรดิ์ต้องเสด็จหนีแต่ในที่สุดก็รวบรวมกำลังมายึดพระราชวังคืนได้ สุลตานจึงให้มันศูรฺพระอนุชากลับไปปัตตานีก่อน หลังจากนั้นก็ไม่มีข่าวจากพระองค์อีกเลย สุลตานมันศูรฺจึงขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
ตำนานฮิกายัตปาตานีเขียนว่า สุลตานมันศูรฺเปลี่ยนท่าทีต่ออยุธยา จึงส่งวัน มูฮัมหมัดมาเป็นทูตเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อความผิดที่ปัตตานีได้กระทำ ก่อนกลับ มูฮัมหมัดก็ได้เอาพระบาทของกษัตริย์มาวางบนศีรษะของตน เมื่อกลับมาถึงท้องพระโรง สุลตานมันศูรฺได้ “ก้มลงจูบศีรษะ”ของมูฮัมหมัด ด้วยความยินดีที่กษัตริย์อยุธยาพระราชทานอภัยโทษต่อความผิดที่ได้กระทำไป
ในสมัยพระเจ้าประสาททอง อยุธยามีความเข้มแข็งและส่งกองทัพไป “ปราบกบฏ” ปัตตานีหลายครั้ง แต่ฝ่ายปัตตานีสมัยที่ปกครองโดยราชินีก็มีความเข้มแข็ง พอที่จะรับมือกับอยุธยาได้ แต่กระนั้น ได้อาศัยโชคช่วยและการเจรจาความด้วย ในที่สุด ปัตตานีสมัยราชินีกูนิงยอมส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปให้อยุธยา และเคยเสด็จไปด้วยพระองค์เอง เรื่องนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เช่น สยามส่งบรรณาการไปให้ฮ่องเต้จีน ฝ่ายจีนถือว่าเป็นการยอมรับว่าฮ่องเต้มีสถานภาพเหนือกว่า “อ๋อง” ที่มาถวายบรรณาการ แต่ฝ่ายสยามมุ่งมาเปิดช่องทางทางการค้า โดยมิได้ถือว่าสยามเป็นประเทศราชของจีนแต่ประการใด
ตามบันทึกของ Van Vliet การส่งบุหงามาสเป็นการแสดงว่า “ราชอาณาจักรทั้งสองได้สถาปนาสันติภาพแล้ว โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่ดูหมิ่นหรือทำลายซึ่งกันและกัน” แต่ฝ่ายสยามถือว่า เป็นการแสดงการยอมรับการเป็นประเทศราชของปัตตานีต่ออยุธยา เมื่ออยุธยาเข้มแข็งและปัตตานีเสื่อมลงเพราะการแตกแยกภายในหลังสมัยที่ปกครองโดยราชินี เช่น ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อยุธยาก็ส่งกองกำลังไปปราบประเทศราชที่แข็งข้อ หรือที่เรียกในพงศาวดารว่าไปปราบกบฏนั่นเอง นี่คือตำนานบาดแผล (ของปัตตานี) หรือตำนานความเข้มแข็ง (ของอยุธยาและรัตนโกสินทร์) ที่เล่าต่อ ๆ กันมา จวบจนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่สงครามระหว่างนครรัฐได้สิ้นสุดลงอย่างเด็ดขาดด้วยชัยชนะของชาวสยามเหนือชาวมลายูที่อยู่ในขอบขัณฑสีมา
แต่การต่อสู้ยังไม่ยุติลงในชายแดนใต้ ความรุนแรงยังมีอยู่จนทุกวันนี้ เรายังติดอยู่กับดักความเชื่อในตำนานที่หล่อเลี้ยงความไม่เข้าใจกัน คนไทยส่วนใหญ่เชื่อในสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ที่บอกเล่าว่า “ปัตตานีเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์” หรือ “เป็นประเทศราชของสยามตั้งแต่รัชสมัยของพระร่วง” ส่วนชาวมลายูเชื่อในตำนานของรุ่งเรืองของ “ปตานี” ที่ถูกบังคับให้มาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่เต็มใจ
ย่อหน้าแรกของหนังสือ “ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย” (โดยคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร)เขียนไว้ว่า “รัฐชาติไทยที่เรารู้จักในปัจจุบัน ก่อตัวขึ้นเมื่อในช่วง 200 กว่าปีมานี้ ชื่อประเทศ เขตแดน เมืองหลวง ความเป็น “ไทย” ในฐานะชาติหนึ่ง ล้วนเป็นสิ่งใหม่ทั้งสิ้น เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว” การสร้าง “ประวัติศาสตร์ไทย” โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯได้รับการสถาปนาไว้ในความทรงจำร่วมของชาวไทยส่วนใหญ่ โดยการใส่เข้าไว้ในการศึกษาภาคบังคับของประชาชน ขณะที่ชาวมลายูในชายแดนใต้ ก็สร้างจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์และบอกเล่าเส้นทางการต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการบอกเล่าตำนานของตนด้วยภาษามลายูที่กินใจ ตราบใดที่ยังยึดมั่นในตำนานที่เป็นเหมือนเส้นขนาน ตราบนั้นความเข้าใจที่จะอยู่ร่วมกันในความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้ยาก
โคทม อารียา