ทุ่งกว้างบริเวณเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งเป็นทุ่งนาข้าวของเกษตรกร, เป็นที่อยู่อาศัย, เป็นแหล่งทำกิน และยังเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สถานที่รำลึกถึงพระมหากษัตริย์นักรบ ผู้ทรงอุทิศพระองค์กอบกู้เอกราชของชาติ
แต่หากย้อนกลับไปยังยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทุ่งภูเขาทองผืนนี้ นอกจากเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและพืช แต่เมื่อเกิดยามศึกสงคราม “ทุ่งภูเขาทอง” จึงเปลี่ยนเป็นสมรภูมิรบของกองทัพไทย ใช้เป็นฐานที่มั่นตั้งรับศึก ไม่ให้ข้าศึกเข้ามาใช้เป็นที่ตั้งทัพล้อมเมือง
.
ดั่งเช่นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญสงครามไทย(กรุงศรีอยุธยา)-พม่า ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์(ปลายพุทธศตวรรษที่21) ใช้พื้นที่ทุ่งภูเขาทองและวัดภูเขาทอง เป็นสมรภูมิและที่ตั้งทัพถึง 6 ครั้ง
(ภาพจากหนังสือมรดกโลกอยุธยา เฉลิมกาญจนาภิเษก, 2538)
.
ย้อนกลับมาในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงใช้พื้นที่ “ทุ่งภูเขาทอง” เป็นสมรภูมิแห่งการต่อสู้ ใช้เป็นที่ตั้งแนวปราการรับมืออริราชศัตรู ที่หมายจะตีเมืองยึดกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้น
.
ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงใช้เป็นที่ตั้งรับข้าศึกนอกพระนคร โดยเฉพาะในพุทธศักราช 2129 เมื่อพระเจ้าหงสาวดี นันทบุเรง ทรงยกกองทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยกพลเข้าปล้นค่ายพม่าที่ทุ่งลุมพลี ส่วนหนึ่งของทุ่งภูเขาทอง ทรงคาบพระแสงดาบปีนค่ายพม่าและถูกข้าศึกษาแทงพลัดตกโดยไม่ทรงเป็นอันตราย พระแสงดาบนี้ต่อมาเรียกว่า “พระแสงดาบคาบค่าย” นั่นเอง
อีกเหตุการณ์ ในปีเดียวกัน (พ.ศ.2129) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำกำลังออกไปปราบค่ายหลวงพม่า พม่าจึงใช้ทหารล่อให้พระองค์ไล่ตี เข้ามาจนถึงบริเวณที่ “ลักไวทำมู” นายทหารฝีมือแกร่งกล้าของพม่าซุ่มรออยู่ หมายจะจับตัวสมเด็จพระนเรศฯ
.
เมื่อพระองค์ทราบความคิดศัตรูจึงจัดทัพสู้ นำกองทัพม้าเข้าประจัญบานกับข้าศึก ในครั้งนั้น “ลักไวทำมู” ถูกสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แทงด้วยพระแสงทวนทะลุอกตายในที่รบ
ซึ่งจากเหตุการณ์สู้รบ ณ ทุ่งลุมพลี (ส่วนหนึ่งของทุ่งภูเขาทอง) ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้มีการจัดทำโครงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประทับบนอาชาศึก พร้อมพระแสงทวนและพระแสงดาบอันเป็นเสมือนหนึ่งเหตุการณ์ในขณะเข้าประจัญบานกับข้าศึก จัดสร้างไว้ที่ทุ่งลุมพลี
.
รวมถึงเหตุการณ์ตอนทำสงครามกับพระเจ้าหงสาวดี “นันทบุเรง” ที่ยกทัพกษัตริย์ 3 ทัพ มาตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2129 ซึ่งการล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นนาน 5 เดือน ก็ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้ ไพร่พลเกิดเจ็บป่วยล้มตายลงไปทุกที กองทัพไทยก็ตั้งรับอย่างเข้มแข็ง พระเจ้าหงสาวดี จึงต้องตัดสินใจยกทัพกลับกรุงหงสาวดี
โดยหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมือง พ.ศ. 2127 ได้สร้างความมั่นคงในด้านการป้องกันประเทศขึ้นใหม่ ทำให้การทหารของกรุงศรีอยุธยาเข้มแข็ง ต้านทานการรุกรานของพระเจ้าหงสาวดีเป็นจุดเริ่มต้นอิสรภาพของประเทศไทย
ทั้งหมดนี้ จึงนับได้ว่าทุ่งภูเขาทอง เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มากด้วยคุณค่า ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาอย่างยาวนานต่อเนื่องทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน
.
เกร็ดข้อมูลทุ่ง ในกรุงศรีฯ
ตามพระราชพงศาวดาร และเอกสารประวัติศาสตร์ พื้นที่ “ทุ่ง” จะใช้เรียกพื้นที่ราบระหว่างชุมชนหรือระหว่างลำน้ำต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกใช้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งอาหารของเมือง
.
“ทุ่ง” ที่ปรากฎชื่อในพระราชพงศาวดารและเอกสารประวัติศาสตร์หลายแห่งที่สำคัญ เช่น “ด้านทิศตะวันออก มี ทุ่งหันตรา” “ด้านทิศใต้ มี ทุ่งปากกราน” “ด้านทิศตะวันตก มี ทุ่งประเชด” “ด้านทิศเหนือ มี ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ทุ่งทะเลหญ้าทุ่งมะขามหยอง และทุ่งภูเขาทอง” เป็นต้น
.
สำหรับทุ่งโบราณ รอบเมืองอยุธยามีประมาณ 10 ทุ่ง ล้วนเคยใช้เป็นสนามรบมาแล้ว ดังนี้
.
++ทุ่งภูเขาทอง เป็นทุ่งบันเทิงใช้เป็นที่ลอยเรือเล่นเพลงเรือและเพลงสักวาในห้วงฤดูน้ำทรง เดือน 12
++ทุ่งหันตรา พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกทัพตรงมาที่ทุ่งนี้ (พ.ศ. 2129) ขณะที่ฝ่ายไทยยังเก็บเกี่ยวไม่เสร็จ เจ้าพระยากำแพงเพชรยกทัพไปป้องกันการเกี่ยวข้าว แต่สู้ไม่ได้ถูกกองทหารม้าของมังกะยอชวาตีแตก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้องรีบจัดทัพออกไปรบพม่าด้วยพระองค์เอง เพราะเกรงว่าคนไทยจะเสียขวัญ โดยรบกันที่ทุ่งชายเคือง และไทยเป็นฝ่ายชนะ
ก่อนหน้านั้น บุเรงนองยกทัพมารบอยุธยา (พ.ศ. 2109 คราวมาขอช้างเผือก เจ้าพระยามหาเสนาตั้งป้อมสู้หน้าพม่า ณทุ่งหันตรา ทัพบุเรงนองมาครั้งนั้นเป็นทัพใหญ่ เข้ายึดหลายทุ่ง เช่น มหาอุปราชามังไชยสิงห์ยึดทุ่งเพนียด พระยาพสิมยึดทุ่งลุมพลี พระเจ้าตองอูยึดทุ่งประเชด พระเจ้าอังวะยึดวัดพุทไธสวรรค์ ส่วนทัพหลวงบุเรงนองตั้งมั่นทุ่งวัดโพธิ์เผือก
++ทุ่งชายเคือง อยู่ทางทิศตะวันออกของอยุธยา เขตอำเภออุทัย
++ทุ่งลุมพลี ปี พ.ศ. 2091 พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ ยกทัพมาประชิดกรุงศรีอยุธยาและตั้งค่าย มี สมเด็จพระศรีสุริโยทัยทรงช้างเข้าสู้ศึกและถูกฟันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
++ปี พ.ศ. 21111บุเรงนองยกทัพใหญ่มารบอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง เป็นทัพใหญ่มาเช่นเคย ทัพหลวงตั้งที่ทุ่งมหาพราหมณ์ตั้งนานปีหนึ่งและไทยเสียกรุง (ครั้งที่ 1)
++ทุ่งแก้ว ทุ่งขวัญ ด้านเหนือวังหลวง น่าจะเป็นทุ่งประกอบการมงคลต่างๆ เช่น พิธีแลกนาขวัญ เป็นต้น
.
ส่วน ทุ่งภูเขาทอง ที่นำมาเสนอข้อมูลนี้ ปัจุบันส่วนหนึ่ง เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมาจากพระราชดำริ ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและรำลึกถึงมหาวีรกรรมในครั้งนั้น
.
และเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลเฉลิมฉลองทรงครองราชย์สมบัติครบ 50 ปี อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์บริเวณประวัติศาสตร์และโบราณสถานสำคัญของชาติ ซึ่งกลายเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด ที่เป็นหมายปลายของของนักท่องเที่ยวที่ไม่พลาดเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และรำลึกถึงบูรพมหากษัตริย์ และบรรพบุรุษ ที่เสียสละเลือดเนื้อคงไว้ความเป็นชาติจนถึงปัจจุบัน
สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2544 ใช้สำหรับจัดกิจกรรมและจัดแต่งภูมิทัศน์บริเวณรอบให้เป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน
.
สำหรับ “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” จ.พระนครศรีอยุธยา ได้จำลององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ในลักษณะทรงม้าศึก ประดิษฐานบนแท่นฐานและลานหินสีขาว โดยจำลองเหตุการณ์ตอนทรงม้าออกมาสังหารลักไวทำมู ทหารเอกของพระเจ้าหงสาวดี ส่วนรอบฐานสลักภาพนูนต่ำบรรยายพระราชประวัติและวีรกรรมสำคัญรวม 11 ภาพ เช่น ตอนชนไก่ในกรุงหงสาวดี, ตอนยิงพระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง, พระแสดงดาบคายค่าย, เหตุการณ์สังหารลักไวทำมู, และตอนประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง เป็นต้น
สำหรับใครที่อยากติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์ชาติไทย สามารถติดตามชมซีรีส์ฟอร์มยักษ์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเดอะซีรีส์” ภาคองค์ประกันหงสา ได้ทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 ทุกวันเสาร์–อาทิตย์ เวลา 18.00 น.
.
ขอบคุณที่มา
>>https://thai.tourismthailand.org/
>>http://lumplee.go.th/
>>ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม จังหวัด
>>เพจ ตามรอยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
>>https://www.silpa-mag.com/history/article_51908