วันที่ 25 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนโครงการพระยาบันลือตำบลคุณธรรม (พหุวัฒนธรรม) พร้อมมอบน้ำดื่ม 2,400 ขวด พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลพระยาบันลือ ณ วัดโพธิ์ประสิทธิ์ ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีว่าที่ร้อยตรีอภิชัย ศรีเมือง นายอำเภอลาดบัวหลวง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนชุมชนของตำบลพระยาบันลือให้การต้อนรับ
นายสมศักดิ์ เผยว่า ในวันนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการพระยาบันลือตำบลคุณธรรม (พหุวัฒนธรรม) พร้อมให้กำลังใจชาวบ้านในพื้นที่สู้สถานการณ์น้ำท่วมที่ระดับน้ำยังคงท่วมสูงอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับการประปานครหลวงส่งมอบน้ำดื่ม จำนวน 2,400 ขวด และสิ่งของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อเป็นกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครทุกภาคส่วน ที่เป็นกำลังสำคัญด่านหน้าในการช่วยกันฝ่าวิกฤตอุทกภัยในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 1,000 ครัวเรือน วันนี้ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของทั้งภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และชาวชุมชนตำบลพระยาบันลือที่แสดงให้เห็นถึงพลังชุมชนในการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมได้อย่างเข็มแข็ง สะท้อนถึงความสำเร็จของชาวตำบลพระยาบันลือในด้านการเป็นแบบอย่างของชุมชนเข็มแข็งสามัคคี มีจิตสาธารณะ มีการบริหารจัดการบูรณาการที่ดีร่วมกันทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบชุมชนแก่ชุมชนในตำบลอื่น ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความดีเพื่อเสริมหนุนตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มากว่า 2 ปีแล้ว โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยหมู่บ้าน 7 แห่ง โรงเรียน 6 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบลพระยาบันลือ และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอลาดบัวหลวง ตั้งเป้าให้เป็นหมู่บ้านตำบลคุณธรรม ภายใต้โครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลเพื่อต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมการสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างธรรมาภิบาล และการรับรู้สิทธิหน้าที่พลเมือง หลังจากพบปัญหาประชาชนบางหมู่บ้านมีปัญหาคุณภาพชีวิต ฐานะยากจน ติดยาเสพติด ขาดการเรียนการศึกษา
ดังนั้น เพื่อยุติปัญหาเหล่านี้ไม่ให้ขยายในวงกว้าง การจัดการองค์ความรู้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอาชีพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยลักษะเฉพาะของตำบลพระยาบันลือเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมไทยพุทธ-ไทยมุสลิม จึงใช้หลักคำสอนของศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามที่ประชาชนนับถือพัฒนาตำบลบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของ “บ.ศ.ร.” (หมู่บ้าน ศาสนา(วัด,มัสยิด) และส่วนราชการในพื้นที่) ควบคู่ “คุณธรรมเป้าหมาย” และ “กิจกรรมส่งเสริมความดี” ปัจจุบันตำบลพระยาบันลือเปลี่ยนแปลงไปมาก ถนนหนทาง ชุมชนบ้านเรือนสะอาด ประชาชนรู้จักสร้างงาน สร้างอาชีพไม่เบียดเบียนกัน มีวินัย มีจิตสาธารณะ หน่วยงานราชการเกิดหลักบริหารจัดการองค์กรที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภาพของความสมานฉันท์และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนในชุมชนในการร่วมกันฝ่าวิกฤตอุทกภัยในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงความสำเร็จของชาวตำบลพระยาบันลือซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีของตำบลอื่น ๆ ดังนั้น ภายในปี 2565 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินกำหนดขยายผลสู่อีก 6 ตำบล 51 หมู่บ้าน มุ่งยกระดับเป็นอำเภอคุณธรรมต่อไป นายสมศักดิ์ กล่าว