ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา คือนักวิชาการด้านแรงงาน นักวิจัยแห่งสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาของสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute)
ย้อนกลับไปยังช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 เขาคือหนึ่งในนักศึกษาที่เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในบรรยากาศของสังคมที่ผู้คนหันมาสนใจสุ้มเสียงของแรงงานและกรรมกร พวกเขาสามารถรวมตัวเรียกร้องกันได้อย่างเสรีเมื่อถูกกดขี่หรือเดือดร้อน การนัดหยุดงานเป็นสิ่ง ‘ปกติ’ ที่ทำได้และถูกรับรองด้วยกฎหมาย
“แต่พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการรัฐประหาร บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ความสนใจเรื่องของคนส่วนใหญ่ก็หายไป รัฐพยายามลิดรอนสิทธิรวมตัวของแรงงาน กีดกันสารพัดอย่าง เสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในสถานะที่อ่อนแอกว่าก็ไม่มีพลังอำนาจที่จะถ่วงดุลกับคนส่วนน้อยซึ่งเป็นผู้มั่งมีในชนชั้นสูง คนส่วนน้อยกลายเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องส่วนใหญ่ ประเด็นของแรงงานจึงหายไปพอสมควร
“รัฐกลัวการรวมตัวของแรงงานเหมือนผี ผีที่เขาสร้างขึ้นมาแล้วกลัวกันเอง”
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนการรวมตัวของคนทำงานประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นประเทศที่มีคนทำงานรวมตัวกันน้อยที่สุดในโลก
“รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะใช้สารพัดข้ออ้างเพื่อกำจัดและสกัดกั้นไม่ให้เกิดการรวมตัว วิธีการคือ divide and rule หรือการแยกคนเป็นส่วนย่อยๆ อย่างเรามักได้ยินคำว่า แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานข้ามชาติ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ รัฐจะแยกคนเป็นส่วนๆ สลายความรู้สึกของการเป็นพวกเดียวกันของคนทำงาน สลายสำนึกทางชนชั้นของคนงานเพื่อป้องกันการรวมตัวกัน ด้วยการใช้กฎหมายแยกคนออกเป็นส่วนๆ กระจัดกระจาย”
ประเทศไทย คือหนึ่งใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้ง ‘องค์การแรงงานระหว่างประเทศ’ แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ลงนามสัตยาบรรณในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ที่เป็นดั่งหลักประกันและรับรองสิทธิของลูกจ้างทั้งประเทศไทยและแรงงานข้ามชาติ ให้สามารถจัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้างได้ หรือที่เราเรียกว่าการจัดตั้ง ‘สหภาพแรงงาน’
“กฎหมายบ้านเราที่ให้สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง คือกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ซึ่งแทนที่จะเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมและประกันสิทธิให้กับคนงานทุกภาคส่วน กลับเป็นกฎหมายที่จำกัดไว้เฉพาะแรงงานที่มี ‘นายจ้าง’ เท่านั้น จำกัดไปถึงรูปแบบและบทบาทของการรวมตัวให้เป็นไปตามที่รัฐพึงพอใจ นี่คือการแทรกแซงซึ่งขัดกับหลักของอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98
“ผมขอย้ำว่า ประเทศไทยมักอ้างและพูดอย่างภาคภูมิใจว่า เราเป็นหนึ่งใน 45 ประเทศผู้ก่อตั้ง ‘องค์การแรงงานระหว่างประเทศ’ แต่ที่น่าอายคือเรากลับเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ปฏิเสธการให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาที่สำคัญที่สุดขององค์การแห่งนี้”
การที่รัฐบาลไทยไม่ลงนามในอนุสัญญาที่สำคัญทั้งสองฉบับ สะท้อนถึงการที่รัฐไทยไม่ยอมรับสิทธิมนุษยชนของแรงงานในชาติ ซึ่งผลของการกระทำนี้ มีราคามหาศาลที่ประชาชนต้องจ่าย
“เมื่อสองปีก่อน ประเทศไทยถูกสหรัฐตัด GSP (ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี) เพราะการละเมิดสิทธิและการไม่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวของแรงงาน เวลาเราจะไปทำการค้ากับประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะคำนึงถึงสิทธิเหล่านี้มาก ผู้บริโภคในหลายประเทศจะไม่ยอมใช้สินค้าในประเทศเหล่านี้เลย โลกจะปฏิเสธเรา”
โลกนี้ไม่ได้มีแค่ ‘นายจ้าง’ กับ ‘ลูกจ้าง’
“สมัยก่อนการจ้างงานจะมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจน เป็น ‘นายจ้าง’ กับ ‘ลูกจ้าง’ แต่พอเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และการระบาดของโควิด ทำให้ระบบการผลิตแบบ supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ชะงักงัน มันเชื่อมโยงกันไม่ได้เพราะโลกมันปิด ระบบการผลิตโกลาหลอย่างมาก คนจำนวนมากหลุดออกจากการจ้างงานแบบเดิม เคว้งคว้างลอยอยู่ข้างนอก กระทั่งถูกกวาดต้อนเข้าไปสู่การจ้างงานบนแพลตฟอร์ม”
การจ้างงานบนแพลตฟอร์ม คือการจ้างงานและรับงานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนแอพพลิเคชั่น ลักษณะการจ้างงานสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ หนึ่ง-Location Based (gig worker) การทำงานโดยมีพื้นที่ทำงานชัดเจน เช่น งานขับรถรับส่งผู้โดยสารซึ่งมีที่ทำงานชัดเจนคือท้องถนน งานส่งของ ส่งอาหาร คนทำงานในภาคบริการ เช่น หมอนวดเพื่อสุขภาพ พนักงานทำความสะอาด งานช่าง หรือกระทั่งสร้างบ้าน โดยแพลตฟอร์มจะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนงานเหล่านี้รับงานไปทำในพื้นที่จริง
สอง-Web Based (crowd worker) คือผู้ที่ทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เราเรียกว่า ‘ฟรีแลนซ์’ เช่นงานตัดต่อวิดีโอ รับแปลหนังสือ ออกแบบกราฟิก นักเขียน ฯลฯ
“แรงงานแพลตฟอร์มในหลายประเทศมีสถานภาพไม่ชัดเจน และมีการต่อสู้เพื่อพิสูจน์สถานภาพของคนงานแพลตฟอร์มหลายประเทศ เช่นประเทศอังกฤษ มีคนขับอูเบอร์สองคนไปฟ้องร้องอยู่ 5 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่พาร์ทเนอร์นะ แต่มีฐานะเป็นลูกจ้าง สู้กันนานมาก เพิ่งมาตัดสินเมื่อต้นปีนี้เอง โดยศาลชี้ว่า เขาเป็น worker เป็นคนทำงานให้แพลตฟอร์ม ฉะนั้นแพลตฟอร์มจึงต้องมีความรับผิดชอบในการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้คนทำงานตามที่กฎหมายมีอยู่ และต้องจ่ายเงินชดเชยการทำงานในวันหยุดด้วย
กฎหมายแรงงานฉบับไทยแลนด์
“ประเทศเรามีกฎหมายที่ล้าหลังนะ กฎหมายแรงงานหลักๆ ของเรามีประมาณ 8 ฉบับ”
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานฉบับแรกเรียกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เขียนขึ้นในปี 2468 หรือก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใช้เพื่ออ้างอิงพิสูจน์สถานะคนทำงาน และถูกเขียนขึ้นในยุคที่รูปแบบการจ้างงานยังไม่ซับซ้อนดังเช่นปัจจุบัน
“แต่เราก็ยังใช้ฉบับนี้เเป็นหลักในการตีความว่าเป็นการจ้างแรงงานหรือไม่ หากใช่ ก็จะมีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างกับลูกจ้าง และจึงจะเข้าสู่กฎหมายฉบับอื่นๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน เข้าสู่ระบบประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน ฯลฯ
“กฎหมาย 8 ฉบับของไทยที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาในโลกโบราณ ในกรอบความคิด 2.0 ดังนั้นจึงมีคนจำนวนมากที่เล็ดลอดและไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายแรงงาน จริงๆ แล้วเรียกว่า ‘Social Law’ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก การออกกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม ต้องรับฟังความคิดเห็น และคิดถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก
เมื่อกฎหมายถูกออกแบบเเละเขียนโดยคนส่วนน้อย กฎหมายจึงไม่อาจหยั่งลึกถึงปัญหาที่เกิดกับคนหมู่มาก และไม่สะท้อนถึงความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง
ไรเดอร์แปลกหน้าบนถนนแห่งการถูกกดขี่
“แม้ว่าเราจะเห็นไรเดอร์อยู่เต็มถนน แต่เขาเหมือนคนแปลกหน้า เราไม่รู้จักเขา ไม่รู้ว่าปัญหาของเขาคืออะไร”
แต่ในอีกด้าน ศักดินากล่าวถึง สถาบันเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute: JELI) องค์กรที่รวบรวมสุ้มเสียงของแรงงานแพลตฟอร์มและขับเคลื่อนสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง นั่นอาจทำให้เราพอมีความหวังอยู่บ้างในโมงยามที่หน่วยงานภาครัฐและกฎหมายไม่ใช่ที่พึ่งพิงอย่างที่ควร
“ไรเดอร์มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการถูกดึงเข้ามาสู่การจ้างงานแบบใหม่ด้วยความหวัง ด้วยกลวิธีชักชวนต่างๆ อย่างการยื่นข้อเสนอที่ดีงามให้คนเหล่านี้ แต่พอเข้ามาแล้ว ธุรกิจแพลตฟอร์มก็ค่อยๆ ทำลายความฝันของเขา ลิดรอนส่วนที่เคยเสนอให้ เพราะอำนาจเบ็ดเสร็จของการจ้างงานบนแพลตฟอร์ม มันอยู่ในมือผู้ประกอบการ เขาสามารถที่จะกำหนดทุกสิ่งอย่าง ทั้งๆ ที่เขาบอกว่าไม่ได้เป็นนายจ้าง แต่เขาสามารถลงโทษคนที่ทำงานกับเขาได้
“ธุรกิจแพลตฟอร์มเป็นโมเดลที่น่ากลัวมากนะ เพราะคนที่ลงทุนกับธุรกิจเหล่านี้มีภาพฝันว่า เขาจะแข่งขันกระทั่งคู่แข่งล้มหายไป มันคือธุรกิจที่น่ากลัว ไม่ใช่เฉพาะกับคนงานนะ แต่รวมถึงผู้ประกอบการด้วยกันด้วย มันคือสนามแข่งขันที่สุดเหวี่ยงเพื่อให้ตนเองกลายเป็นผู้ชนะหนึ่งเดียว
‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ คือนิยามที่ศักดินากล่าวถึงโมเดลธุรกิจแพลตฟอร์ม แน่นอนว่า หากสายพานเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป โดยไร้ซึ่งการต่อรองและกำกับดูแล ท้ายที่สุด บริษัทที่แข็งแกร่งกว่าจะเป็นผู้ชนะและกำหนดทุกสิ่ง ไรเดอร์และเหล่าแรงงานจะกลายเป็นเพียงปลาเล็กที่ถูกกลืนหายโดยสมบูรณ์อย่างเงียบเชียบ
“จริงๆ แล้ว แรงงานมีอำนาจมากนะ เพียงแต่เรากระจัดกระจาย เราก็เลยไม่มีอำนาจ อย่าลืมว่า หากเขาไม่มีเรา ธุรกิจเขาก็ไปไม่ได้ เขาอยู่ลำพังไม่ได้ หากไม่มีเราเขาก็พัง ถ้าเรายังแยกกันอยู่แบบนี้ เราก็ไร้อำนาจต่อรอง”
การนิยามสถานะของแรงงานแพลตฟอร์มโดยบริษัทแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะ พาร์ทเนอร์ ผู้ร่วมธุรกิจ คนงานอิสระ ฯลฯ ภายใต้กฎหมายแรงงานที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้สิทธิ สถานภาพ สวัสดิการ และสวัสดิภาพที่พวกเขาควรได้รับอยู่ในสถานะที่คลุมเครือ
“ในความเป็นจริง ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกจ้างหรือไม่ใช่ลูกจ้าง หากขึ้นชื่อว่าเป็นคนทำงาน คุณควรได้รับสิทธิที่พึงมีทั้งหลาย เพราะในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เขาพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะทำงานประเภทไหน รัฐมีหน้าที่ทำให้คนทำงานในประเทศของตนไปถึงสิทธิเหล่านั้น แม้กฎหมายฉบับที่มีอยู่จะไม่ครอบคลุม รัฐก็มีหน้าที่จัดหากฎหมายฉบับอื่น มาตรการหรือกลไกอื่นๆ เข้ามาเพื่อให้คนทำงานเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น
“สำหรับผมมองว่า การเป็นหรือไม่เป็นลูกจ้าง อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า คุณได้สิทธิที่ควรจะได้หรือเปล่า”
ครั้งแล้วครั้งเล่า อธิปไตยทางตรงของประชาชนถูกปัดทิ้ง
“เมื่อบ้านเมืองมันไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย กฎหมายดีๆ จึงออกยาก พอประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายก็ถูกเสียงข้างมากของรัฐบาลตีตกประจำ เพราะเราไม่เคารพในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง”
กฎหมายที่ล้าหลัง เชื่องช้า คลุมเครือ และไม่สอดคล้องกับโลกการจ้างงานในปัจจุบัน นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า มีความพยายามใดบ้างในการพัฒนากฎหมายแรงงาน เรามองหาความหวังใดในช่วงเวลาเช่นนี้
“ตอนนี้รัฐบาลมีความพยายามเข้ามาดูแลแรงงานแพลตฟอร์มอยู่บ้าง เช่น กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงานฯ ซึ่งได้ร่างกฎหมายขึ้นมาชื่อว่า พ.ร.บ. ‘ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ’ พยายามจะเอาแรงงานแพลตฟอร์มไปอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย เราไม่ควรไปจัดหมวดหมู่ กว้างๆ แบบนั้น เพราะคนทำงานแพลตฟอร์มและแรงงานนอกระบบประเภทอื่นๆ อยู่ในสภาพการจ้างที่แตกต่างกัน เขาก็มีปัญหาที่ต่างกันมากมาย การจัดประเภทรวมกันแล้วแก้ปัญหายกเข่ง มันไม่ใช่ทางออก
“อีกเรื่องคือ กระทรวงแรงงานฯ ได้ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ขึ้นมา ซึ่งผมมองดูแล้วยังไม่ดี ไม่ครอบคลุมในการให้สิทธิคนงานทุกภาคส่วนในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ไม่ได้นำไปสู่หลักการสำคัญของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 กระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้ทำกฤษฎีกาออกมาเพื่อกำกับธุรกิจแพลตฟอร์ม แต่ก็เป็นการมองที่ไม่ได้ครอบคลุมภาพรวม หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลยังไม่มีการบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งหากมองจากภาครัฐบาล เรายังไม่เห็นอนาคตนะ”
กรณีศึกษาการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงาน
ในหลายประเทศ ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งและเป็นเอกภาพ สามารถนำการต่อสู้เรียกร้องและจัดตั้งสหภาพแรงงานที่อยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ เพื่อเจรจาต่อรองหาข้อตกลงร่วมกัน
“ประเทศในยุโรปเหนือเขาก็ตั้งสหภาพแรงงานแล้วไปเจรจาให้คนงานที่ทำความสะอาด แล้วทำข้อตกลงร่วมกับบริษัทแพลตฟอร์มข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่ใช้ครอบคลุมแรงงานในประเทศต่างๆ ด้วย นี่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง
“หรือในบางประเทศ คนงานรวมตัวกันทำแพลตฟอร์มของตัวเอง เป็นสหกรณ์ (Co-operative) แพลตฟอร์มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของตัวเองแล้วบริหารกันเอง บางประเทศก็ผลักดันให้เกิดกฎหมายเป็นกาลเฉพาะ”
สำหรับศักดินา การต่อสู้และต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของแรงงาน จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การสร้างกลไกกำกับดูแลแบบมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย การออกกฎหมายเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาในบางเรื่อง การวางเกณฑ์มาตรฐานเช่น ค่าตอบแทน ค่ารอบ ชั่วโมงการทำงาน และที่สำคัญคือ การรวมตัวของแรงงาน
“เราต้องรวมตัวจัดตั้งกันจริงจัง มีสมาชิกจำนวนมาก เข้าร่วมจริงจัง จึงจะสามารถกดดันให้นายจ้างยอมรับได้ ยิ่งเรารวมตัวกันได้เยอะ เราอาจจะเรียกเจ้าของทุกแพลตฟอร์มมาทำข้อตกลงร่วมกันได้”
เรื่องนี้ไม่ง่ายนัก นั่นเพราะความเข้าใจเรื่องสหภาพแรงงานในประเทศไทยยังคงจำกัด ไรเดอร์จำนวนไม่น้อยอาจยังไม่เชื่อมั่นในเรื่องของการรวมตัวต่อรองมากนัก
“หลายคนหวาดกลัวว่าหากรวมตัวกัน นายจ้างก็อาจปิดแอคเคาท์ของคุณ ก็จบ มันง่ายมากที่จะถูกกระทำ
“ผมคิดว่าบ้านเราอาจจะต้องสู้หลายทาง แต่ผมเชื่อว่า สำคัญที่สุดคือการรวมตัวกัน ไม่เช่นนั้นมันยากมาก ซึ่งการรวมตัวกัน มันคือเรื่องของเราจริงๆ เราต้องสร้างความรู้สึกตรงนี้ให้ได้ และรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพ”
แรงงานแพลตฟอร์ม – อาชีพในอนาคตที่ต้อง ‘มีอนาคต’
“น้องไรเดอร์ผู้หญิงคนนึงบอกผมว่า เวลาขึ้นคร่อมมอเตอร์ไซค์ เขาจะคิดเสมอว่านี่คือ 50 เปอร์เซ็นต์ที่เขาเดินทางไปสู่ความตาย มันเศร้านะ เขาไม่มีความมั่นคงปลอดภัย หากเราปล่อยให้เป็นสภาพนี้ไปเรื่อยๆ เท่ากับเรายอมรับโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องที่ทำงานบนแพลตฟอร์มต่างๆ อีกมากมาย
“ทุนนิยมเสรีคือการปล่อยให้การแข่งขันเป็นไปตามกลไกตลาด ขณะเดียวกัน เรามีรัฐเพื่อให้รัฐเข้ามาแทรกแซง แต่รัฐก็ต้องเป็นรัฐที่ประชาชนมีส่วนในการกำหนดด้วย มันเกี่ยวโยงไปหมด หากบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ดูจะตีบตันไปหมดกับปัญหาสารพัดอย่าง เราจึงต้องหันมาสนใจการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยในประเทศด้วย
“แต่ผมไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย ผมเชื่อมั่นและมีความหวังตลอดเวลา ตอนนี้เราเห็นการตั้งสหภาพไรเดอร์ขึ้นมา มีการรวมกลุ่มผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ เรามีความหวัง เมื่อพี่น้องแรงงานทั้งหลายเชื่อมั่นในพลังของตัวเองและส่งเสียงออกมาดังๆ อย่าปล่อยให้คนส่วนน้อยเป็นผู้ตัดสินใจ สะท้อนปัญหาให้ดัง
“ปัจจุบัน มีการศึกษาเรื่องนี้ในหลายมิติมากขึ้น ผมว่าถ้าเราเข้าใจมันมากขึ้น ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น และทำให้แพลตฟอร์มเป็นงานในอนาคตที่มีอนาคตได้”
โครงการผลิตสื่อเพื่อถ่ายทอดและขยายผลจากงานวิจัย ‘รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กำกับโดยแพลตฟอร์ม’ (2563) จากความร่วมมือระหว่างสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และ WAY
สนับสนุนโดย
มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย
(Friedrich-Ebert-Stiftung, Thailand Office)
Author
อรสา ศรีดาวเรือง
ลูกสาวชาวประมงลุ่มทะเลอ่าวไทย สนใจชีวิตของมนุษย์ผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและการเดินทาง ทุกวันนี้ติดกาแฟ ติดการ์ตูน ติดทุกอย่างที่เข้ามาในวงจรชีวิต เคยติด F สมัยเรียนหลายตัว ก่อนเอาตัวรอดจากมหาวิทยาลัยมาแบบเส้นยาแดงผ่าแปด
Photographer
โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ