25 ธ.ค. 2564 | 21:42:28
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ตั้งอยู่บน ถ.อรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สร้างตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน พระประธานยิ้มรับฟ้า เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สมเด็จพระราชาคณะในสมัยรัชกาลที่ 4
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือ วัดระฆัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรมหาวิหาร อยู่ในเขตการปกครองคณะสงฆ์มหานิกายภาค 1 เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และยกเป็นพระอารามหลวง เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ในสมัยรัตนโกสินทร์ และยังเป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชอีกด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) พระเชษฐภคินีของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” นับจากนั้นเป็นต้นมา สถาปัตยกรรมที่สวยงามภายในวัด มีหอพระไตรปิฎก ในอดีตเคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี อีกทั้งยังมีพระอุโบสถที่เป็นทรงแบบรัชกาลที่ 1 คือมีหลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยสลักเสลาอย่างสวยงาม ภายในประดิษฐานพระประธานยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางสมาธิ หน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอกเศษ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก 3 องค์ เปิดให้เข้าไปเยี่ยมชมและสักการะได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00น.-17.00น. ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.watrakang.com
มาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย
– มีการทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ
– มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดล้างมือ
– มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ
– นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัย
– พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย
ขอบคุณข้อมูล : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
Share this: