วันพุธ ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
‘อยุธยา’อ่วมหนัก
คันคลองแตกน้ำทะลักท่วม 3 อำเภอ
‘อ่างทอง’ฟาร์มไก่จมตาย 5 หมื่นตัว
อุตุฯชี้พายุ “เนสาท” เข้าเวียดนาม ทำให้ภาคเหนือมีฝน ส่วนภาคใต้ มรสุมพาดผ่าน มีฝนตกหนัก ระทึกถนนคันคลองเจ้าเจ็ด ถูกน้ำกัดเซาะพัง น้ำท่วมพื้นที่ 3 อำเภอท้ายน้ำที่กรุงเก่า ผู้ว่าฯสั่งเร่งแก้ปัญหา ส่วนอ่างทอง ฟาร์มไก่จมน้ำ ตายกว่า 5 หมื่นตัว ขณะที่
เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมพนังกั้นน้ำชี น้ำท่วมขยายวงกว้าง
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ “เนสาท”ฉบับที่ 3 ดังนี้ พายุไต้ฝุ่นเนสาทบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 350 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ
140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนช่วงวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565ขณะที่บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้
มรสุมผ่านภาคใต้ทำฝนตกหนัก
อนึ่ง ช่วงวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
สำหรับชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันตกให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งช่วงวันที่ 19-21 ตุลาคม 2565
น้ำกัดเซาะคันคลองขาดที่กรุงเก่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เกิดเหตุถนนคันคลองชลประทาน ใกล้ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด หมู่ 7 ต.รางจระเข้ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำกัดเซาะจนทรุดตัว กว้างประมาณ 5 เมตร ทำให้น้ำไหลเชี่ยวแรงเข้าคลองเจ้าเจ็ด-บางยี่หน เข้าพื้นที่ท้ายน้ำ อ.เสนา อ.บางซ้าย อ.ลาดบัวหลวง ซึ่งด่านแรกคือ รพ.เสนา โดยก่อนเกิดเหตุชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชุมชนใกล้เคียงพากันขนจักรยานยนต์ รถยนต์ ข้ามถนนที่กำลังจะทรุดตัวออกมาได้ทัน ขณะที่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเสนาเร่งตัดกระแสไฟฟ้า เนื่องจากเกรงว่าเสาไฟฟ้าจะถูกน้ำกัดเซาะจนโค่นล้ม ท่ามกลางความแตกตื่นของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว
พ่อเมืองกรุงเก่ารุดแก้ปัญหาด่วน
นายนพพร หล่อเลี่ยม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 ต.รางจระเข้ เปิดเผยว่า จุดที่ถนนคันคลองขาดมีท่อสูบน้ำของกรมชลประทานอยู่ใต้ผิวถนนซึ่งเกิดทะลุทำให้ถนนทรุดมวลน้ำของแม่น้ำน้อยท่วมพื้นที่ ต.รางจระเข้ ต.บ้านโพธิ์ ต.เสนา อ.เสนา และไหลบ่าสู่พื้นที่ ต.เจ้าเจ็ด ต.เจ้าเสด็จ อ.เสนา อ.บางซ้าย อ.ลาดบัวหลวง
ต่อมานายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะ และนายอเนก ก้านสังวอน ผอ.สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน เข้าตรวจสอบเหตุและเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยนายนิวัฒน์ กล่าวว่า จุดเกิดหตุมีท่อสูบน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทานที่เดินท่อสูบน้ำใต้ถนน ทำให้มวลน้ำจำนวนมากจากแม่น้ำน้อย ท่วมพื้นที่กัดเซาะจนถนนขาด จึงวางแผนปิดกั้นมวลน้ำไม่ให้ไหลสู่พื้นที่ท้ายน้ำ โดยมีการประสานแจ้งเตือนชาวบ้านให้พร้อมรับสถานการณ์แล้ว
ชลประทานคาด2-3วันซ่อมเสร็จ
ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน แจ้งว่าอาจต้องใช้เวลา 2-3 วัน ในการซ่อมแซมถนนคันคลองชลประทานดังกล่าวที่ทรุดตัวลง โดยพื้นที่ซึ่งรับผลกระทบโดยตรงในจ.พระนครศรีอยุธยา คือตำบลที่ติดลำคลองเจ้าเจ็ดของ อ.เสนา อ.บางซ้าย และบางส่วนของ อ.ลาดบัวหลวง ที่มีลำคลองเชื่อมต่อถึงกันส่วนจุดที่คันกั้นน้ำขาดพบว่ามีปริมาณน้ำไหลประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที คาดว่าพื้นที่รับผลกระทบจะมีน้ำสูงขึ้น 10เซนติเมตร เพราะพื้นที่ด้านในมีขนาด 350,000ไร่ เมื่อน้ำไหลเข้าไปแล้วจะกระจายแผ่ตัวไปทั่วพื้นที่และไม่ยกตัวสูงมากนัก
ทั้งนี้ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท รายงานตัวเลขการปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนน้อยลง คงเหลืออยู่ที่ 2,969 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งนับเป็นข่าวดีเพราะสถานการณ์น้ำเริ่มจะคลี่คลายและมีแนวโน้มจะปล่อยน้ำลดลงทุกวัน
วราวุธจี้แก้ไขหวั่นลาม‘สองพี่น้อง’
ส่วนนายวราวุธศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีคันคลองเจ้าเจ็ด จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายซึ่งอาจกระทบถึงทุ่งสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ว่าขณะนี้น้ำลงมาในแนวดิ่งมากกว่าขยายทางขวาง จึงส่งผลกระทบถึงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี โดยทุ่งผักไห่ซึ่งอยู่เหนือพื้นที่ทุ่งเจ้าเจ็ดขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินความจุ 50% แล้ว ที่สุดปริมาณน้ำจะเข้ามายังทุ่งสองพี่น้อง และ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จึงขอฝากกรมชลประทาน เร่งแก้ปัญหาจุดที่คันคลองแตก หากล่าช้าจะลามถึงทุ่งสองพี่น้อง ซึ่งบางพื้นที่เหลืออีกไม่ถึง 20 เซนติเมตร ปริมาณน้ำก็จะเท่ากับน้ำท่วมปีที่แล้ว
สั่งให้จังหวัดสุพรรณฯพร้อมรับมือ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ได้ประสานกับทางจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ ขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและเนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วง 180 วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไว้ ทำให้ ส.ส.ไม่สามารถลงพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่
ฟาร์มไก่อ่างทองจมน้ำ5หมื่นตัว
ส่วนที่ จ.อ่างทอง บริเวณริมถนนในพื้นที่หมู่ 2ต.ราชสถิตย์ อ.ไชโย เจ้าของสังเวียนฟาร์ม ได้นำรถแบ็กโฮ มาตักซากไก่ใส่รถหกล้อเพื่อนำไปฝังกลบ หลังจากถูกน้ำที่เข้าท่วมฟาร์ม ทำให้ไก่เนื้ออายุประมาณ 35 วัน จมน้ำตายกว่า 50,000 ตัว โดยเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา น้ำไหลทะลักเข้าท่วมฟาร์มไก่ที่เลี้ยงไว้ประมาณ 60,000 ตัว และใกล้จะจับออกขายแล้ว จนขนย้ายไม่ทัน แม้ว่าทาง ตชด.และกู้ภัย จะมาช่วยกันขนแล้วก็ตาม ส่งผลให้ไก่จมน้ำตายไปเกินกว่าครึ่ง
นอกจากนี้ยังมีบ่อปลาดุดุกอีก 5 บ่อ ถูกน้ำท่วมเสียหาย จนปลาหลุดออกจากบ่อไปตามกระแสน้ำ เบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท
จนท.เร่งซ่อมพนังกั้นลำน้ำชีแตก
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพนังกั้นน้ำลำน้ำชี จ.กาฬสินธุ์ ถูกน้ำซัดจนพังเสียหาย จนน้ำไหลท่วมพื้นที่ อ.ฆ้องชัย และขยายวงกว้างออกไป ว่าทางเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน ได้เร่งมือซ่อมแซมพนังดังกล่าว โดยนำหินขนาดใหญ่ อุปกรณ์ทำกล่องเหล็ก รถแบ็กโฮ มาปรับพื้นที่ และซ่อมแซม โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม ซึ่งมีสำนักชลประทานที่ 6 และแขวงทางหลวงชนบท จ.กาฬสินธุ์ เข้าดำเนินการใช้กล่องกาเบียนบรรจุหินขนาดใหญ่ วางขวางทางน้ำ คาดว่าต้องใช้เวลา 5-7 วัน
น้ำท่วมขยายวงไปถึงอ.กมลาไสย
สำหรับอุปสรรคสำคัญคือกระแสน้ำที่ไหลแรง และเส้นทางที่คับแคบของถนนในจุดที่พนังแตกทำให้ใช้เวลาขนอุปกรณ์ค่อนข้างนาน ซึ่งขณะนี้มวลน้ำจากพนังที่แตก ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ ต.ลำชี ต.ฆ้องชัย ต.ธัญญา อ.ฆ้องชัย และขยายวงกว้างไปถึง ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย รวม 11 หมู่บ้าน 1,017ครัวเรือน โดยที่บ้านท่าเยี่ยม ชาวบ้านได้พากันอพยพออกจากพื้นที่อย่างโกลาหลแม้ว่าจะมีเวลาเตรียมตัว 1 วัน
ทั้งนี้ หมู่บ้านท่าเยี่ยมมีบ้านเรือน 200หลัง ที่ได้รับความเดือดร้อน ทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตัดกระแสไฟฟ้าทั้งหมู่บ้านเพื่อความปลอดภัย และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันแรกคือหมู่บ้านสะดำศรี ชาวบ้านต้องช่วยกันขนจักรยานยนต์ออกมาจากหมู่บ้าน เนื่องจากน้ำท่วมสูงจนไม่มีที่จอด ขณะที่บ้านหนองคล้า ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่งนาในพื้นที่ลุ่มต่ำ ถูกน้ำท่วมได้รับผลกระทบทั้งหมู่บ้าน 104 ครัวเรือน รวม 447 คนชาวบ้านต้องอพยพออกมาพักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว
ภูเก็ตยังจมเร่งหาทางแก้ไขปัญหา
ขณะเดียวกัน นายณรงค์ วุ่นซิ้วผวจ.ภูเก็ต พร้อมด้วย พล.ร.ท.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3และผู้ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบระดับน้ำในคลองบางใหญ่ ซึ่งไหลผ่านใจกลางเมืองภูเก็ตเพื่อพิจารณาหาทางแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองภูเก็ต โดยที่ฝนยังคงตกต่อเนื่อง ทำให้บางพื้นที่น้ำยังไม่ลดลง อาทิ ซอยพระเนียงสามกอง ซอย 1 ต.รัษฎา อ.เมือง นอกจากนี้ฝนที่ตกยังท่วมผิวจราจรด้านหน้าวิทยาลัยเทคนิคถลาง ทางไปท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตครึ่งช่องทาง รวมทั้งถนนถลาง-เชิงทะเล
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้มีเหตุดินโคลนถล่มบริเวณถนนหาดลายิ-แหลมสน ซึ่งทาง อบต.กมลา อ.กะทู้ ได้จัดรถขุดดินเพื่อเคลียร์พื้นที่และเก็บเศษกิ่งไม้ที่กีดขวางการจราจรจนรถทุกชนิดสามารถขับผ่านไปมาได้ตามปกติแล้ว