เปิดประเทศอย่างเป็นทางการมาพักใหญ่ ให้ผู้คนจากต่างแดนเดินทางไปมาหาสู่ในดินแดนไทยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยว ทำเอาการเดินทางช่วงปลายปีกลับมาคึกคัก แม้ยังไม่มากเท่าเก่า แต่พอทุเลาความหงอยเหงาไปได้หลายขุม
เช่นเดียวกับ รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ที่เตรียมพาแฟนๆ ไปเช็กอินยัง ‘วัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี’ บน ‘เขาพระ’ ไม่เพียงชมความงดงามของทัศนียภาพของเมืองเก่าแก่ในวัฒนธรรมทวารวดีอย่าง ‘เมืองอู่ทอง’ หากแต่ชวนให้ค้นลึกลงไปถึงเรื่องราวลึกซึ้งของ ‘สุวรรณภูมิ ชุมทางการค้า ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย’
สุวรรณภูมิ คือ แผ่นดินใหญ่ มีพื้นที่เป็นคาบสมุทรยื่นยาวจากเหนือลงใต้ (บริเวณไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์) คั่นระหว่างมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันตก กับมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออก เสมือนสัญลักษณ์สะพานเชื่อมโลกตะวันตก-ตะวันออก ให้พบปะสังสรรค์สนทนากัน ในที่สุดก็เกิดการประสมประสานกันทั้งวัฒนธรรมและทางชาติพันธุ์
ผสมผสานทางวัฒนธรม อีกทั้งชาติพันธุ์ ในที่สุดก็เป็น ร้อยพ่อพันแม่ ล้วนเป็นบรรพชนไทยปัจจุบัน ดังนั้น ‘คนไทยแท้’ จึงไม่มี
ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ในเครือ
พร้อมด้วย เอกภัทร์ เชิดธรรมธร พิธีกร ‘มติชนทีวี’ ขนข้อมูลเข้มข้นพร้อมนำเสนอประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่อำเภออู่ทองซึ่งนักโบราณคดีสำรวจพบว่ามีมนุษย์อยู่อาศัยในแถบนี้ตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว โดยเป็นชุมชนเกษตรกรรม มีความเชื่อในศาสนาผี และวัฒนธรรมหินตั้ง กระทั่งหลังรับพุทธศาสนาเข้ามาในราว พ.ศ.1000
ทั้งคู่เตรียมนำหลักบานมายืนยันว่าต้นทางของประวัติศาสตร์ไทยไม่ใช่อัลไต และไม่ได้เริ่มต้นที่สุโขทัย แต่ต้นทางประวัติศาสตร์ไทยคือสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า สุวรรณภูมิไม่ใช่อาณาจักร ไม่เป็นรัฐ ไม่เป็นอาณาจักร ไม่เป็นอาณานิคมใครแต่เป็นชื่อพื้นที่ซึ่งมีโลหะทองแดง
“ก่อนพุทธศาสนาเข้ามา พ่อค้ามาก่อนแล้ว เพราะสุวรรณภูมิเป็นชุมทางการค้า เมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว ผมเชื่อตาม อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ที่บอกว่าสุวรรณภูมิคือแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้รวมหมู่เกาะ ด้วยรูปศัพท์ว่า ภูมิ คือ แผ่นดิน ส่วนเกาะ ในเอกสารโบราณใช้คำว่า ทวีป” อดีตสองกุมารสยามเกริ่นเป็นน้ำจิ้มก่อนวันออนแอร์ ทั้งยังเตรียมนำสำเนาแผนที่โบราณมานำเสนอในรายการ โดยระบุว่า เป็นชิ้นที่เขียนขึ้นในช่วงเวลาตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้น โดยจำลองจากบันทึกปโตเลมี นักดาราศาสตร์ชาวกรีก ซึ่งระบุชัดเจนว่า สุวรรณภูมิคือผืนแผ่นดินใหญ่
ถามว่า แล้วทำไมเลือกเปิดจีพีเอสมาที่ ‘อู่ทอง’ คำตอบสั้นๆ แต่ชัดเจนคือ
“อู่ทองเป็นเมืองสถานีการค้าสำคัญแห่งหนึ่งของสุวรรณภูมิ นักค้นคว้าและนักวิชาการทั้งไทยและนานาชาติเชื่ออย่างนั้น”
อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่บนลำน้ำจรเข้สามพัน มีเมืองโบราณอู่ทอง อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ ทิวเขาเมืองอู่ทองเมื่อพันๆ ปีมาแล้ว ล้วนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พบซาก
‘หินตั้ง’ และโบราณสถานกระจายทั่วไป หนึ่งในเขาเหล่านั้นคือ ‘เขาพระ’ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเขาพระศรีสรรเพชญารามนั่นเอง ‘หินตั้ง’ หรือ Megalith มีหลายรูปแบบและมีหลายขนาด เป็นสิ่งก่อสร้างจากหินธรรมชาติ ทั้งบนพื้นราบและบนยอดเขาตามความเชื่อทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว นานมากก่อนมีนักเดินทางเสี่ยงโชคจากอินเดียบุกป่าฝ่าดงไปถึงดินแดนที่เรียกสุวรรณภูมิราว 2,500 ปีมาแล้ว ครั้นหลังนักเดินทางเสี่ยงโชคไปถึงสุวรรณภูมิแล้วคนก็ยังนับถือศาสนาผี มี Megalith คือหินตั้งอย่างสืบเนื่องต่อไปไม่ขาดสาย
หลังจากนั้นอีกนานนับพันปี ศาสนาพุทธจากอินเดียและลังกาแผ่ถึงสุวรรณภูมิ ราวหลัง พ.ศ.1000 บรรดาพระสงฆ์ที่เผยแผ่ศาสนาพุทธเล็งเห็นความสำคัญที่คนนับถือวัฒนธรรมหินบนยอดเขา จึงผนวกหินตั้งเข้ากับความเชื่อในศาสนาพุทธ ด้วยการสร้างสถูปเจดีย์ทับซ้อนหรือสวมทับหินตั้งบางแห่ง ซึ่งเท่ากับเริ่มแรกของ ‘ผีปนพุทธ’ และต่อไปข้างหน้าปนพราหมณ์เพิ่มอีก
“คนที่นี่นับถือผีมาก่อน ต่อมา พุทธศาสนาจึงเผยแผ่เข้ามา จึงพบหินตั้งบนยอดเขาที่มีเจดีย์ทวารวดีครอบ เช่นที่ เขาพุหางนาค ผมคิดว่าการนำหินมาเรียงซ้อนกันเป็นระบบความเชื่อผี เมื่อพุทธมา ก็สร้างเจดีย์ครอบ บนเขาแถบนี้ มีการพบจารึกอักษรอินเดียใต้ เขียนว่า ปุษยคิริ ไม่รู้ว่าเจอบนเขาลูกไหน ไม่มีบันทึก ได้แต่เดากันต่างๆ นานา ปุษยคิริ มีในอินเดีย เป็นศาสนสถานที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้บนเขาส่วนตัวจึงเชื่อว่าจารึกนี้พบบนเขาพระซึ่งไม่เคยร้างตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน มีหลักฐานเป็นระยะ ในขุนช้างขุนแผนซึ่งแต่งราวสมัยรัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 4 ก็กล่าวถึงเขาพระ เช่น ในตอนพระพันวษาต้อนควาย เพราะสุพรรณฯ เป็นแหล่งควายป่า เมืองอู่ทองไม่เคยร้าง เพียงแต่ลดความสำคัญลง เดิมเคยเป็นศูนย์กลางอำนาจ แต่ต่อมากระจายไปนครปฐมบ้าง กำแพงแสนบ้าง ตัวเมืองสุพรรณบ้าง” สุจิตต์แย้มเนื้อหาแน่นๆ ที่มีให้ฟังเต็มๆ ในรายการ
พร้อมยกตัวอย่างวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน อย่างน้อย 2 ตอน มีฉากท้องที่บริเวณเขาพระ ไม่ว่าจะเป็น ตอนพระพันวษาต้อนควายป่า ที่เขาพระ และตอนขุนแผนพานางวันทองหนีขุนช้างไปเขาพระ
ตัวอย่างในตอน พระพันวษาจะไปต้อนควายป่า สั่งขุนไกร (พ่อของพลายแก้ว) อยู่สุพรรณ เตรียมพื้นที่บริเวณเขาพระ มีกลอนเสภาว่า
‘คุมคนออกจากเมืองสุพรรณ ถึงเขาพระพอตะวันจะลับหล้า
สั่งไพร่ให้สำรวจตรวจตรา คอยท่ารับเสด็จพระภูธร’
ส่วนตอนขุนแผนพานางวันทองหนี มีความตอนหนึ่งว่า
๏ ถึงเขาพระที่เคยเข้ามาไหว้ พระสุกนี่กระไรดังหิ่งห้อย
ชี้บอกวันทองน้องน้อย พระจันทร์ฉายบ่ายคล้อยลงฉับพลัน
รื่นรื่นชื่นรสเสาวคนธ์ ปนกับกลิ่นแก้มเกษมสันต์
หมอกลิ่นบุปผาสารพัน พระจันทร์ดั้นหมอกออกแดงดวง
เป็นอีกตอนน่าชมรับลมหนาวช่วงปลายปี ย้อนดูพุทธปะทะผี ก่อนมีพราหมณ์เข้ามาผสาน จากสุวรรณภูมิ ถึงสยาม และความเป็นไทยในวันนี้
พรรณราย เรือนอินทร์