‘โฆษกก้าวไกล’ บี้ ‘ยธ.-สธ.’ เร่งแก้วิกฤตคลัสเตอร์เรือนจำ แนะยึดหลักสิทธิตามรธน. พิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว คดีที่ยังไม่สิ้นสุด ลดแออัด
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในเรือนจำ โดยอ้างถึงการเปิดเผยข้อมูลของเฟซบุ๊กเพจ “ไทยรู้สู้โควิด” ของรัฐบาลที่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยวันนี้ (13 พ.ค.) ว่ามีสูงถึง 4,887 ราย นับเป็นสถิติสูงสุดอีกครั้งนับตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดในประเทศไทย เนื่องจากมีการนำจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในเรือนจำ 2,835 รายมารวมด้วย
น.ส.สุทธวรรณ กล่าวว่า หากกรมราชทัณฑ์มีมาตรการที่แน่นหนาและชัดเจนตามที่แถลงข่าวจริง เหตุใดตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงสูงขนาดนี้ และที่ผ่านมาทำไมไม่นำตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำมารวมอยู่ด้วย เป็นการปกปิดข้อมูลไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ทั้งนี้ตนมีความกังวลต่อความปลอดภัยของนักโทษในเรือนจำทั้งหมดว่าจะมีมาตรการคัดกรองและรักษาอย่างไร อยากให้ทบทวนลำดับขั้นตอนการแยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่ที่กรมราชทัณฑ์บอกไว้ว่าแยกกักตัวอย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง ก่อนผู้ต้องขังพ้นระยะแยกกักโรค ที่บอกว่ามี รพ.สนาม มีแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดก็ต้องถามว่ามีเพียงพอหรือไม่ ผู้ติดเชื้อจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและทันท่วงทีหรือไม่อย่างไร นักโทษในเรือนจำก็เป็นพลเมืองคนหนึ่ง มีชีวิต มีจิตใจ มีครอบครัวที่รออยู่ข้างนอก หากติดเชื้อโควิด-19 ก็ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนผู้ป่วยคนอื่นๆ
น.ส.สุทธวรรณ กล่าวว่า ทั้งนี้ตนยังขอตั้งข้อสังเกตุถึงคุณภาพของเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์ได้มีการเบิกงบประมาณใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 750,000 บาท (สำหรับเรือนจำและทัณฑสถาน 142 แห่ง) เพื่อซื้อหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ทำความสะอาด ถุงมือ และอื่นๆ ซึ่งเมื่อวานนี้มีการเปิดเผยภาพหน้ากากอนามัยผ้า ที่มีลักษณะบางและมีรูระบาย ซึ่งเป็นหน้ากากผ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงอยากให้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงเรื่องนี้อีกครั้ง ว่ามีผ่านมามีมาตรการดูแลนักโทษอย่างไร นักโทษในเรือนจำไม่ได้การ์ดตก ครั้งนี้รัฐจะโทษประชาชนไม่ได้แล้ว เพราะการดูแลรับผิดชอบทั้งหมดเป็นของกรมราชทัณฑ์
“ขอให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข ติดตามดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข และที่สำคัญ สำหรับคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องมีการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อลดความแออัดของเรือนจำ ซึ่งสิทธิได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” น.ส.สุทธวรรณ กล่าว
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่