พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา – พระนครศรีอยุธยาแหล่งท่องเที่ยว
ผลิตภัณฑ์ / ตราสินค้า :
เจ้าของบริษัท/ฝ่ายการตลาด/ฝ่ายข้อมูล มีความสนใจที่จะลงโฆษณา ยี่ห้อสินค้า, ผลิตภัณฑ์, ตราสินค้า หรือปรับฐานข้อมูลให้ ล่าสุด ติดต่อสอบถามได้ที่อีเมล์
ข้อมูล : เพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทยนานถึง 417 ปี จึงเป็นแหล่งโบราณวัตถุล้ำค่าที่มีจำนวนมหาศาลที่สุดแห่งหนึ่งไปด้วย และคลังสมบัติชาติเหล่านี้ ถูกเก็บรวบรวมไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษาร่องรอยอารยธรรมในอดีต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยาจึงถือกำเนิดขึ้นภายในบริเวณวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยาแห่งหนึ่งอย่างวัดราชบูรณะ ตำบลท่าวาสุกรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของประชาชนที่เช่าพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเพื่อสมทบทุนสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ทรงสร้างพระปรางค์ วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์ด้วย อนึ่ง วัดราชบูรณะสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1967 ในบริเวณเดิมที่เจ้าสามพระยาถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ที่สิ้นพระชนม์จากการทำยุทธหัตถีเพื่อแย่งชิงราชสมบัติของสมเด็จพระนครอินทราธิราชพระราชบิดาที่เสด็จสวรรคตลง ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งเป็นอาคารจัดแสดง 3 อาคาร คือ หมู่อาคารเรือนไทย สร้างคร่อมอยู่บนสระน้ำ แสดงรูปแบบเรือนไทยภาคกลางโบราณ ภายในมีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของผู้คนในอดีต อาคารศิลปะในประเทศไทยเป็นอาคาร 2 ชั้น จัดแสดงศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่รวบรวมได้จากจังหวัดอยุธยา แบ่งเป็นยุคสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยทวารวดี ได้แก่ พระพุทธรูปหินประทับยืนบนหัวของพนัสบดี พระพุทธรูปสำริดประทับยืนปางประทานพร ส่วนในสมัยศรีวิชัย ได้แก่ เศียรพระสำริดสมัยลพบุรี จัดแสดงพระพุทธรูปสำริดปางประทานพร ปางนาคปรก และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร มาถึงสมัยสุโขทัยขุดพบเครื่องกระเบื้องเคลือบต่าง ๆ โดยเฉพาะตุ๊กตาสมัยอยุธยา มีฐานพระพุทธรูปทำจากดินเผา รูปพระแม่ธรณี และเศียรพระพุทธสาวกที่ทำจากดินเผา จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์จัดแสดงแผ่นหินอ่อนจำหลักเรื่องรามเกียรติ์จากวัดโพธิ์ เป็นต้น ต่อมาคืออาคารหลัก เรียกว่า ตึกเจ้าสามพระยาเก็บศิลปวัตถุอยุธยาชิ้นสำคัญ ๆ แบ่งเป็น ชั้นล่าง จัดแสดงเศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่จากวัดธรรมิกราช ซึ่งเป็นศิลปะแบบอู่ทองที่มีความงดงามตามลักษณะพุทธศิลป์อย่างยิ่ง และแสดงความเป็นเลิศในงานหล่อโลหะสมัยอยุธยา, พระพุทธรูปหลายสกุลช่างที่พบในองค์พระมงคลบพิตร รวมถึงที่พบในวัดราชบูรณะเศษปูนปั้นศิลปะแบบอยุธยาที่ประดับเจดีย์วัดมหาธาตุ เช่น ครุฑและสุครีพถอนต้นรัง ตลอดจนพระพุทธรูปทวารวดีขนาดใหญ่จากวัดหน้าพระเมรุ เครื่องปั้นดินเผาชิ้นขนาดเล็ก เช่น คนอุ้มเด็กและไก่ ชาวดัตช์กับสุนัข พร้อมด้วยเครื่องไม้จำหลักต่าง ๆ เช่น ทวารบาล ประตูไม้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์บานประตูไม้ลายพรรณพฤกษาจากวัดวิหารทอง และหน้าบันไม้จำหลักรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ แวดล้อมด้วยอสูร เป็นต้น ชั้นบน จัดแสดงเครื่องเคลือบเศียรพระและพระพุทธรูป แบบจำลองอาคาร เครื่องปั้นดินเผาภาพพระบฏเขียนสีธรรมาสน์ไม้แกะสลัก และตู้พระธรรม ซึ่งที่ปลายห้องโถงมีห้องจัดแสดงอีก 2 ห้อง ได้แก่ ห้องมหาธาตุ รวบรวมเครื่องทองและพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมแผนภาพอธิบายลักษณะการประดิษฐานพระธาตุที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรอยุธยา มีผอบทั้งเจ็ดชั้นที่บรรจุพระธาตุ และสุดท้ายคือห้องราชบูรณะ จัดแสดงทองคำและอัญมณีจากกรุวัดราชบูรณะ อาทิ พระแสงขรรค์ชัยศรีเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขนาดย่อส่วน กรองพระศอ สังวาลย์ทับทรวง สร้อยพาหุรัดทองพระกร จุลมงกุฎใช้ครอบมุ่นมวยผมของบุรุษ ตาข่ายโปร่งครอบศีรษะของสตรี และเครื่องราชูปโภคย่อส่วน เช่นผอบ กระปุก ถาด พาน หีบ ภาชนะ รูปหงส์ ตลับรูปแมลงทับ และช้างทรงเครื่อง เป็นพิพิธภัณฑ์อันมั่งคั่งด้วยสมบัติล้ำค่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของอาณาจักรอยุธยา ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ศาสนา และสังคม ที่ควรค่าแก่การเก็บรักษาและศึกษาอย่างยิ่ง เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท โทร. 0 3524 1587
ประเภท : แหล่งท่องเที่ยว
ที่ตั้ง : ประตูชัย พระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : T. +6635241587
โทรสาร :n/a
อีเมลล์ :
เว็บไซท์ :
จุดเด่น : มาตรการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย, มีจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์หรือจุดล้างมือ, มีการทำความสะอาดสถานที่อย่างสม่ำเสมอ, มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ, มีการเช็คอินไทยชนะ, นักท่องเที่ยวต้องสวมหน้ากากอนามัย, พนักงานต้องสวมหน้ากากอนามัย, รักษาระยะห่าง เช่น มีแผ่นกั้นที่เคาน์เตอร์
แผนที่เดินทางไปยัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา – พระนครศรีอยุธยา