เพราะความรักเป็นแรงผลักดันให้อาจารย์ไพฑูรย์ ขาวมาลา ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาวาดเขียน การเขียนแบบและการต่อเรือจากโรงเรียนช่างต่อเรือตัดสินใจขายที่นาเพื่อนำเงินมา “ปลูกบ้านให้เรืออยู่” และกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่เกิดจากการเสียสละแรงกาย แรงใจของคน ๆ หนึ่ง ที่ผูกพันกับสายน้ำและเรือมาชั่วชีวิต จึงมุ่งหวังจะอนุรักษ์เรือรูปแบบต่าง ๆ ให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์ในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษแม้ในวันที่ถนนและรถเข้ามาแทนที่ จนเรือและน้ำไม่ได้เป็นเส้นเลือดหลักของคนไทยดังเช่นวันวานแล้วก็ตาม อาจารย์ไพฑูรย์ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เรือไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยใช้พื้นที่ในบริเวณบ้านของตนเองจัดแสดงเรือชนิดต่าง ๆ ที่เก็บสะสมไว้ มีอาคารเรือโบราณเป็นพื้นที่จัดแสดงหลัก ภายในมีเรือโบราณมากมาย เช่น เรือชะล่าไม้สัก ยาว 8.5 เมตร เรือมาดประทุน เรือมาดเก๋งที่ขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้น เรือหมู เรือพายม้า เรือขุดที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม เรือบดเกล็ดซึ่งเคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดที่งานประจำปีของอยุธยามาแล้ว จนถึงเรือโปงตาลที่ขุดจากต้นตาลขนาดยักษ์ทั้งต้น ประกอบกับนิทรรศการถาวร ให้ความรู้เกี่ยวกับเรือไทย ภาพเขียนเรือฝีมือของอาจารย์และแผนที่อยุธยาในอดีต แสดงตำแหน่งสถานที่สำคัญ ตลอดจนเส้นทางน้ำ ซึ่งเป็นต้นฉบับจริงจากการสำรวจของคุณเคน เมย์ ชาวอเมริกัน ที่สนใจประวัติศาสตร์ของอยุธยาและรักการเดินทางโดยเรือเป็นพิเศษ ถัดมาคืออาคารทรงไทยทำด้วยไม้สักทอง ซึ่งจะได้ชมเรือจำลองฝีมืออาจารย์ไพฑูรย์กันอย่างจุใจ เช่น เรือพระราชพิธีจำลอง ที่มีตั้งแต่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นต้น ภายในห้องแสดงนี้ยังมีภาพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขณะทรงสร้างเรือด้วยพระองค์เอง นอกนั้นคือเรือสำเภา เรือเมล์ เรือยนต์ และเรือพื้นบ้านจำลองของไทยทุกชนิด รวมทั้งจัดแสดงเครื่องมือที่ใช้ในการต่อเรือในอดีตซึ่งใช้มือทำล้วน ๆ เช่น ขวาน ผึ่ง สว่าน โฉเฉ เลื่อยลันดาและเลื่อยช้อน เป็นต้น ด้านนอกอาคารคือพิพิภัณฑ์กลางแจ้ง จัดแสดงเรือเก่าแก่มากมาย เช่น เรือกระแชงไม้สักใช้บรรทุกข้าวเปลือก เรือเครื่องเทศหรือเรือข้างกระดาน ซึ่งได้รับบริจาคมาจากครอบครัวพุฒตาล เรือจำลองสุวรรณวิจิกขุดจากไม้ตะเคียนทั้งต้นยาวกว่า 12 เมตร ซึ่งเคยปรากฎในสารคดี “เสด็จประพาสต้นของพระพุทธเจ้าหลวง” และเรือยนต์ไพฑูรย์รัตนาวา ฝีมือการออกแบบและต่อเรือของอาจารย์ไพฑูรย์ ซึ่งครอบครัวขาวมาลาใช้เรือลำนี้เองล่องมาจากบ้านเดิมริมแม่น้ำลพบุรีมาสอนหนังสือที่โรงเรียนช่างต่อเรือภายในเกาะเมือง รวมทั้งเรือสำปั้นขายกาแฟ ขายก๋วยเตี๋ยวและขายขนมไทย ใครคันไม้คันมือก็มีพื้นที่สาธิตการทำเรือจำลองให้ได้ดูกันเต็ม ๆ เปิดให้ชมเวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-17.00 น. ควรนัดหมายเป็นหมู่คณะและติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้า โทร. 0 3524 1195 www.thaiboatmuseum.com ค่าเข้าชมแล้วแต่จะสมทบทุนให้พิพิธภัณฑ์