แก่นกลางของวัดแห่งนี้คือพระพุทธศาสนานิกายธรรมยุต หากรูปลักษณ์ที่ปรากฎนั้นโอ่โถงราวกับวิหารกอธิค ทำให้วัดนิเวศธรรมประวัติคือวัดไทยแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป และด้วยความงดงามแปลกตานี้เอง วัดเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งนี้จึงได้รับการยกสถานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดวรวิหาร ด้วยพระราชวังบางปะอินคือที่ประทับอันโปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อยามเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยา หลังจากพระราชวังบางปะอินแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นบนเกาะฝั่งตรงข้ามพระราชวัง เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อ พ.ศ. 2419 แม้เวลาจะผ่านมานับร้อยปี หากอาคาร ตลอดจนงานประดับต่าง ๆ ภายในวัดได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพงดงามเช่นเดิม ท่ามกลางความสงบร่มเย็นของวัดริมแม่น้ำ ผู้มาเยือนจะได้ตื่นตาตื่นใจในทุกตารางนิ้วเลยทีเดียว โดยเฉพาะอาคารที่โดดเด่นที่สุด คือพระอุโบสถแบบกอธิค ซึ่งประดับงานกระจกสีหรือสเตนกลาสเหนือช่องหน้าต่าง ที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่อันเป็นงานพุทธศิลป์งดงาม องค์แรกคือพระประธานนามว่า พระพุทธนฤมลธรรโมภาส ซึ่งฐานชุกชีสร้างเป็นไม้กางเขนเหมือนโบสถ์ ด้านหน้าพระประธานเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 สองคือพระคันธารราฐ พระพุทธรูปยืนปางขอฝน ออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการซึ่งผสมผสานศิลปะประเพณีนิยม และศิลปะตะวันตก ออกมาเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะคล้ายสามัญชน สุดท้ายคือพระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี งานช่างฝีมือชาวขอม ที่มีอายุเก่ายาวนานถึงพันปี ซึ่งยิ่งดูคุมขลังเมื่อพระพุทธรูปประดิษฐานในบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่มากเช่นกันอยู่ตรงข้ามกับหอพระคันธารราฐพอดี ภายในแมกไม้ร่มเย็นในวัด ยังมีสวนหินดิษกุลอนุสรณ์ สถานที่บรรจุอัฐิ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอัฐิของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอกในรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นพระมารดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีอัฐิของเจ้านายราชสกุลดิศกุลอีกหลายองค์ อยู่ท่ามกลางสวนหินชนิดต่าง ๆ ที่รวบรวมมาทั่วประเทศไทย ตั้งแต่หินชนวน หินกรวดจนถึงหินทราย วัดแห่งนี้เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.