วัดอันเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนชาวไทยจีน แทรกโศกนาฏกรรมตำนานรักซ้อนอยู่ในชื่อ ตามพงศาวดารเหนือบันทึกไว้ว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ผู้ครองอโยธยาก่อนราชวงศ์อู่ทองทรงสร้างขึ้น ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงพระศพพระนางสร้อยดอกหมาก พระราชธิดาบุญธรรมในพระเจ้ากรุงจีน ซึ่งยกให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสายน้ำผึ้ง แต่เมื่อกลับจากรับตัวพระนางมาจากเมืองจีน พระเจ้าสายน้ำผึ้งรับสั่งให้พระนางรออยู่ที่เรือพระที่นั่งก่อน จะทรงจัดขบวนมารับเข้าวัง แต่พระองค์มิได้เสด็จมารับว่าที่พระอัครมเหสีด้วยองค์เอง พระนางสร้อยหมากจึงไม่ยอมขึ้นจากเรือ เป็นเช่นนี้อยู่ 2 ครั้ง พระเจ้าสายน้ำผึ้งรับสั่งสัพยอกทั้ง 2 ครั้งว่า “เมื่อไม่ขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด” ด้วยความน้อยพระทัย พระนางสร้อยหมากทรงกลั้นพระทัยถึงแก่สวรรคตทันที เป็นที่มาของชื่อวัดว่า วัดพระนางเชิง ยังคงพบเห็นตำหนักเจ้าแม่สร้อยดอกหมากริมแม่น้ำป่าสัก สถานที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก หรือชาวจีนเรียกว่า จู๊แซเนี้ย ผู้คนจำนวนมากเดินทางมาที่พระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร สังกัดมหานิกายนี้ หวังใจว่าจะนมัสการหลวงพ่อโต พระคู่บ้านคู่เมืองอยุธยามาช้านาน ซึ่งตามพงศาวดารกล่าวว่าสร้างขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี หรือตรงกับ พ.ศ. 1867 เดิมนามว่า พระเจ้าพแนงเชิง หรือเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวจีนว่า เจ้าพ่อซำปอกงหรือผู้คุ้มครองการเดินทางในทะเล ซึ่งได้รับพระราชทานนามใหม่จากรัชกาลที่ 4 ว่า พระพุทธไตรรัตนนายก เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 14.20 เมตร สูง 19.20 เมตร นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประดิษฐานในพระวิหารใหญ่ซึ่งสร้างคลุมในภายหลัง เสาเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งสีแดง หัวเสาประดับปูนปั้นรูปบัวกลุ่มกลีบซ้อนกันหลายชั้น บานประตูไม้แกะสลักลอยตัวเป็นลายก้านขดยกดอกนูนออกมา ผนัง 4 ด้านเจาะช่องบรรจุพระพุทธรูป 84,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ เรียกว่าพระงั่ง งดงามชวนตะลึงยิ่งนัก ตามคำให้การชาวกรุงเก่ายังบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อคราวจะเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 หลวงพ่อโตมีน้ำตาไหลออกมาเป็นสาย เป็นที่อัศจรรย์นัก ส่วนพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปทอง ปูนและนาค ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงพระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 องค์ แต่เพิ่งค้นพบภายหลังว่าเป็นทองและนาคเมื่อปูนกระเทาะออก จึงสันนิษฐานว่าก่อนจะเสียกรุง ชาวบ้านนำปูนมาพอกองค์พระไว้เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าเผาลอกเอาทองพระไป ส่วนวิหารเซียน อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าพระวิหารหลวง เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามทั้ง 4 ด้าน แต่ถูกโบกปูนทับเมื่อคราวปฏิสังขรณ์ และมีศาลาการเปรียญ เป็นศาลาไม้ทรงไทย หน้าบันประดับช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ มีภาพพุทธประวัติบนผ้าติดไว้ที่ขื่อพร้อมลง พ.ศ. 2472 กำกับไว้ ภายในมีธรรมาสน์สลักลวดลายแบบรัตนโกสินทร์สวยงามมาก เข้านมัสการได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. คนไทยเข้าชมฟรี สำหรับชาวต่างชาติเสียค่าเข้าชมคนละ 20 บาท วัดนี้ยังจัดงานประจำปียิ่งใหญ่ถึง 4 ครั้ง ได้แก่ งานมหาสงกรานต์ งานสรงน้ำและห่มผ้าถวายวันแรม 8 ค่ำ เดือนเมษายน งานทิ้งกระจาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีงิ้วและมหรสพมาแสดงจนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่างานงิ้วเดือน 9 และสุดท้ายคืองานตรุษจีน เปิดวิหารหลวงให้นมัสการหลวงพ่อโตถึง 5 วัน แผนที่การเดินทางไปวัดพนัญเชิงวรวิหาร http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/456/วัดพนัญเชิงและศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก.pdf