เมื่อเอ่ยชื่อวัดพรานนกหลายท่านอาจนึกถึงวัดที่ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรีในกรุงเทพมหานครฯ แท้จริงแล้ว วัดพรานนก แห่งนั้นตั้งชื่อไว้เพื่อระลึกถึงวัดพรานนกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีประวัติยาวนานถึง 3 สมัย เริ่มจากมีต้นกำเนิดการสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายนี้เมื่อราว ๆ พ.ศ. 2300 ก่อนกรุงศรีจะเสียกรุงเพียง 10 ปี ในเวลานั้นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งสถาปนาในภายหลังเป็นพระเจ้าตากสินมหาราช ได้นำทัพมาพัก ณ บริเวณที่ตั้งวัด โดยมีพรานทองคำ ซึ่งมีอาชีพล่านกหนูเลี้ยงชีพรับหน้าที่จัดหาเสบียงส่งให้กองทัพ ครั้นพรานทองคำออกไปล่าสัตว์ที่ทุ่งสังหาร จึงแลเห็นกองทัพข้าศึกราว 500 คนจึงคาบข่าวมาแจ้งพระยาวชิรปราการให้วางแผนรบจนได้ชัยชนะ พรานทองคำจึงได้รับแต่งตั้งเป็นฝ่ายเสบียงประจำกองทัพ และเมื่อมีการสร้างวัด จึงนำฉายาพรานนก อันเป็นชื่อเรียกที่พระยาวชิรปราการโปรดเรียกพรานทองคำบ่อย ๆ มาตั้งเป็นชื่อวัดพรานนกเพื่อเป็นอนุสรณ์คุณความดีในเวลาต่อมา วัดพรานนกยังเป็นพื้นที่แห่งการรำลึกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงปลายสมัยอยุธยาที่ราชธานีกำลังอ่อนแอเนื่องจากร้างลาศึกสงครามมานาน พระเจ้ามังระแห่งพม่าสบโอกาสจึงยกทัพมาตีไล่ตั้งแต่หัวเมืองน้อยใหญ่เรื่อยมา จนที่สุดได้ล้อมพระนครไว้ได้ บรรดาแม่ทัพนายกองล้วนหมดกำลังใจต่อสู้ พระยาวชิรปราการซึ่งได้เป็นพระยาตาก ครองเมืองตาก เล็งเห็นว่าคราวนี้คงจะเสียกรุงเป็นแน่แท้ จึงรวบรวมกำลังพลฝ่าวงล้อมพม่าออกไปทางวัดพิชัย และตัดสินใจพักแรมยังบ้านพรานนก ครั้นเมื่อนายทหารออกไปหาเสบียงก็ถูกล้อมจับโดยทหารพม่า 200 นายและพลม้าอีก 30 ม้า หากพระยาตากพร้อมทหารเอกอีก 4 ม้ากลับเข้าสู้กับทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าจนแตกพ่ายไป นับเป็นการจุดประกายความหวังจะกอบกู้เอกราชได้เป็นครั้งแรก ชาวบ้านพรานนกและพลตรียุทธพันธ์ มกรมณี ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าในเวลานั้น ได้ร่วมใจกันสร้างอนุสรณ์รำลึกเหตุการณ์อันห้าวหาญในครั้งนั้น และอัญเชิญพระบรมรูปพระเจ้าตากสินมหาราชประทับบนหลังม้าศึก เคียงข้างด้วยทหารเอกคู่พระทัยทั้งสี่นาย ได้แก่หลวงพิชัยอาสา หลวงพรหมเสนา ขุนอภัยภักดีและหมื่นราชเสน่หาจากศูนย์การทหารม้า อำเภออุภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2534 ณ วัดพรานนก สถานที่ซึ่งมีความผูกพันลึกซึ้งต่อพระเจ้าตากสินมหาราชและเอกราชของสยามประเทศ เปิดทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.