



วัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกายตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ตามหลักฐานเดิมวัดมีพื้นที่ประมาณ37 ไร่แต่แม่น้ำกัดเซาะจนเว้าแหว่งเหลือเพียง 15 ไร่เศษ ซึ่งบนพื้นที่ทั้งหมดนี้ประกอบไปด้วยอาคารเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างใน พ.ศ. 2498 และดำเนินการบูรณะซ่อมแซมโดยพลตรีมนูญกฤษ รูปขจร ผู้มีพื้นเพเดิมอยู่ในท้องที่หลังองค์พระพุทธไสยาสน์นี้เอง นอกจากนั้นมีศาลาดินหรือวิหารสมเด็จ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารไม้โปร่งมุงสังกะสีใช้สลักเดือยแทนการตอกตะปูสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายมีรูปทรงเป็นเรือสำเภา ซึ่งสมเด็จพุฒาจารย์โตได้พักอาศัยเมื่อคราวมาคุมการก่อสร้างองค์พระพุทธไสยาสน์ ต่อมาได้สร้างวิหารคู่เชื่อมต่อกันเป็นศาลาน้ำหรือศาลาริมแม่น้ำป่าสัก และยังมีฌาปนสถาน ซึ่งใช้เป็นเตาน้ำมันแห่งแรกในอำเภอท่าเรือเมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อรักษาสภาพแวดล้อม แต่จุดเด่นที่ทำให้ผู้คนเดินทางมาที่วัดแห่งนี้เนืองแน่นทุกวันคือ พระพุทธไสยาสน์หรือหลวงพ่อโต ซึ่งสมเด็จพระพุทธาจารย์ (โตพรหมรังสี) ได้ทรงสร้างไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อ พ.ศ. 2413 ประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัดเป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน มีขนาดยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตรและสูง 16 เมตร นับเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของเมืองไทย นอกจากนั้นภายในพระอุโบสถมีพระประธาน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 64 นิ้ว สูง 126 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 และพระปรางค์นาคปรกสมัยทวาราวดีเนื้อหินทรายซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้ รวมทั้งรอยพระพุทธบาทจำลองอายุนับร้อยปีซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จมานมัสการพระพุทธบาทที่วัดนี้ถึง 2 ครั้ง จนเป็นที่มาของชื่อตำบลท่าหลวง ส่วนที่เรียกว่าวัดสะตือเพราะมีต้นสะตือใหญ่งอกงามขึ้นภายในบริเวณวัด สามารถเดินทางไปวัดสะตือได้ตามแผนที่นี้ http://www.tourismthailand.org/fileadmin/upload_img/Multimedia/Ebrochure/472/วัดสะตือ.pdf